อย่างไรก็ดี วันนี้ได้ประชุมรวมกับภาคเอกชนเพื่อซักซ้อมมาตรการของการส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ร่วมกับผู้ประกอบการกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและกิจการที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ ทั้งผู้ค้า ผู้ขนส่ง และโรงกลั่นกว่า 50 บริษัท โดยได้เน้นย้ำและทำความเข้าใจให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการประกอบกิจการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วย มาตรการป้องกันอุบัติภัย, มาตรการเตือนภัย, มาตรการระงับอุบัติภัย และมาตรการจัดการให้เกิดความปลอดภัย ทั้งด้านการขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางท่อ การขนส่งทางรถยนต์ และการขนส่งทางรถไฟ
สำหรับการขนส่งน้ำมันทางทะเลในส่วนของท่ออ่อนที่รับร้ำมันดิบจากเรือน้ำมันดิบเพื่อส่งต่อเข้าท่อเหล็กนั้น ที่ประชุมเห็นควรให้เปลี่ยนมาเป็นระบบท่อ 2 ชั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้น เพราะท่ออ่อนเดิมที่ฉีกขาดจนเกิดปัญหานั้นเป็นท่ออ่อนชั้นเดียว ซึ่งการปรับเปลี่ยนอาจจะต้องใช้เวลาราว 8-9 เดือน
นอกจากนี้ได้เน้นย้ำการตรวจสอบด้วยการเพิ่มเรือ TUG จากเดิม 1 ลำเป็น 2 ลำ ตรวจสอบการขนส่งน้ำมันที่ทุ่นกลางทะเล โดยให้เรือเพิ่มปริมาณบูม และน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน กำลังคน หากเกิดอุบัติเหตุจะได้จำกัดคราบน้ำมันให้แคบที่สุด
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งน้ำมันในประเทศไทยทางทะเลใช้ท่อเป็นอุปกรณ์ลำเลียง ซึ่งท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบมจ.ไทยออยล์(TOP) มีความยาวท่อ 16 กม. อยู่ที่จังหวัดชลบุรี ส่วนท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของ PTTGC มีความยาว 20 กม. อยู่ที่จังหวัดระยอง และท่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท Pan Asia ความยาวท่อ 6.5 กม. อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี
สำหรับระบบท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติทั้งในทะเลและบนบกมีความยาวรวมทั้งสิ้น 4,837 กิโลเมตร ส่วนระบบขนส่งทางบก มีรถบรรทุกขนส่งทั้งน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ รวมกันทั้งสิ้น 17,642 คัน และจำนวนโบกี้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางรถไฟ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,060 โบกี้
ทั้งนี้ การขนส่งน้ำมันทางรถยนต์นอกจากต้องปฏิบัติตามกฏหมายขนส่งทางบกอย่างครัดที่ห้ามขับเร็วเกิน 80 กม./ชม.แล้ว ที่ประชุมเห็นร่วมกันให้กรมธุรกิจพลังงานร่างแนวทางปฏิบัติ โดยใช้หลักเกณฑ์ของ บมจ.ปตท.(PTT) และเชลล์ในการควบคุมการขนส่ง เพราะมีการเข้มงวดมาก เช่น รถพ่วงห้ามขับเร็วเกิน 60 กม./ชม. ใช้ระบบติดกล้อง ติดจีพีเอส ทำให้ตรวจสอบคนขับได้ว่าทำตามกฏหรือไม่ เพราะหากฝ่าฝืนกฎจะมีความผิดถึงขั้นไล่ออก
ด้านนายวีรพล จิระประดิษฐ์กุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดกรมธุรกิจพลังงานได้อนุมัติผ่อนผันลดปริมาณการสำรองน้ำมันดิบแก่โรงกลั่น PTTGC ลง 50% จากที่ต้องสำรองไว้ 18 วัน ลงมาเหลือ 9 วัน เนื่องจากการขนส่งน้ำมันดิบของ PTTGC ยังไม่สามารถใช้ท่อขนส่งกลางทะเลได้ โดยระหว่างนี้ยังต้องใช้การขนส่งทางเรือขนาดเล็กแทนไปก่อน