พร้อมกันนี้คณะของกทม.ได้มีโอกาสพบปะผู้เชี่ยวชาญด้านโมโนเรล และเรียนรู้ด้านการพัฒนาการขนส่งมวลชนระบบรางเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะระบบรางเดี่ยวหรือโมโนเรล โดยจะนำแนวทางมาปรับใช้เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งกทม.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวอยู่ประมาณ 2-3 เส้นทาง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ก่อน 1 เส้นทางในเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีระบบขนส่งที่สามารถป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบหลักได้
ด้านนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง กล่าวว่า กรุงเทพฯ และนครฉงชิ่งมีความคล้ายคลึงกันที่ขนาดประชากรในเมืองมีประมาณ 12 ล้านคนใกล้เคียงกัน เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรในเมืองมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีสภาพการจราจรติดขัดมากขึ้น ฉงชิ่งได้เลือกพัฒนาระบบโมโนเรลเป็นหลักในการขนส่งมวลชนในเมือง ด้วยเหตุที่สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา การออกแบบรางโมโนเรลสามารถปีนเขาได้ สามารถตีโค้งได้ในช่วงแคบ การก่อสร้างรางและสถานีไม่ต้องใช้พื้นที่กว้างมาก จึงไม่จำเป็นต้องเวนคืนที่ดินมาก ซึ่งเหมาะกับกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันมีการอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่น อันจะส่งผลไปยังต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำกว่าระบบรางคู่
โดยฉงชิ่งเคยใช้งบประมาณในการสร้างรถไฟใต้ดิน 700 ล้านหยวน/กม. แต่การสร้างโมโนเรลใช้ 400 ล้านหยวน/ กม. นอกจากนี้โมโนเรลยังมีจุดเด่นที่ไม่มีเสียงรบกวน และสามารถบรรทุกคนได้มากประมาณตู้ละ 220 คน ปัจจุบันมีขบวนละ 6 ตู้ กำลังพัฒนาเพิ่มเป็นขบวนละ 8 ตู้ ขณะนี้ฉงชิ่งมีเส้นทางโมโนเรลยาวที่สุดในโลก 143 กม. กำลังก่อสร้างเพิ่มปีละ 40 กม. คาดว่าจะเพิ่มเป็น 208 กม.ในปี 2015 โดยชาวฉงชิ่งนิยมใช้เนื่องจากค่าโดยสารถูกและไม่มีเสียงรบกวน นอกจากนี้ในนครฉงชิ่งยังมีการผลิตและประกอบตัวรถพร้อมทั้งรางโมโนเรลและระบบการดำเนินรถทั้งหมดได้เองโดยเป็นผู้นำด้านโมโนเรลของโลกอีกด้วย