รัฐจัดนิทรรศกาล"น้ำเพื่อชีวิต"ควบรับฟังความเห็น เชื่อประชาชน 39 จ.หนุน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 4, 2013 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) เปิดเผยว่า การจัดงานนิทรรศการน้ำ"น้ำเพื่อชีวิต" ที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ถือเป็นการคิกออฟเพื่อเผยแพร่ทำความเข้าใจโครงการบริหารจัดการน้ำทั้ง 9 โมดูล พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 39 จังหวัด โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนก่อนเซ็นสัญญา

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดเวทีดังกล่าว คือ มายแมพของประชาชนแต่ละคนที่คาดว่าจะเข้าร่วมกว่าแสนคนต่อโครงการน้ำ จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงรายละเอียดของโครงการใหม่ โดยจะเปิดให้มีการเจรจาต่อรองกับเอกชนเป็นครั้งที่ 2 ก่อนการเซ็นสัญญาโครงการ ส่วนโครงการใดที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรือรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(EHIA) ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ แต่หากโครงการใดที่ไม่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็สามารถเดินหน้าได้ทันที

ทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนทั้ง 39 จังหวัดจะเห็นด้วยกับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล เพราะเท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นคนในพื้นที่ออกมาต่อต้านหรือไม่เห็นด้วย มีแต่คนจากภายนอกที่คัดค้าน

ส่วนกรณีของเขื่อนแม่วงก์นั้น เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมของประเทศได้ ไม่ได้ช่วยแค่ลุ่มน้ำสะแกกรังเท่านั้น เพราะจากเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าน้ำจากป่าแม่วงก์มีผลต่อปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดอุตรดิตถ์

"ช่วงวันที่ 19 ก.ย.ที่มีการประชุม ครม.สัญจร ผมและตัวแทนจากบริษัท เค-วอเตอร์ จะขึ้นบินสำรวจพื้นที่แนวฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออก เพื่อยืนยันเส้นทางจากสภาพพื้นที่จริง และประเมินความยากของโครงการ ยืนยันว่าพื้นที่ในการก่อสร้างฟลัดเวย์จะต้องกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด" นายปลอดประสพ กล่าว

โดยเห็นว่าฟลัดเวย์ตะวันออกจะทำได้เร็วกว่าเนื่องจากมีเส้นทางที่เป็นแนวเดิม เพียงแต่ขยายเพื่อให้รับน้ำได้มากขึ้น แต่ปัญหากฏหมายไทยที่ไม่สามารถแยกสัญญาได้ อาจทำให้โครงการต้องรอเพื่อเดินหน้าไปพร้อมกัน งบประมาณของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ได้ถูกใช้ไปเพียง 3 หมื่นล้านบาท ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงคมนาคม, กรมชลประทาน และกรมป่าไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับ 39 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย กลุ่มพื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน 3 จังหวัด 18 แห่ง แก้มลิงใน 1 จังหวัด 3 ตำบล และโครงการขยายคลองใน 2 จังหวัด 3 อำเภอ

กลุ่มพื้นที่กลางน้ำ(ตอนบน/ล่าง) 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี โดยในกลุ่มนี้จะมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน 7 จังหวัด 14 แห่ง แก้มลิงใน 3 จังหวัด 18 อำเภอ 111 ตำบล และโครงการขยายคลอง-แม่น้ำใน 12 จังหวัด 44 อำเภอ 151 ตำบล

กลุ่มพื้นที่ปลายน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และจันบุรี ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง พื้นที่ปิดล้อมใน 4 จังหวัด จำนวน 7 แห่ง ขยายคลอง 7 จังหวัด 11 อำเภอ 62 ตำบล นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด คือชัยภูมิ และสกลนคร ที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง และพื้นที่ปิดล้อม 1 จังหวัด 1 แห่ง และกลุ่มพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงจังหวัดเดียวคือ จังหวัดสงขลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ