กทม.เอาจริงจัดระเบียบตู้โทรศัพท์-ป้ายโฆษณา-จยย.รับจ้างบนทางเท้า

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2013 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 14/2556 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการจัดระเบียบตู้โทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดเส้นทางที่จะดำเนินการรื้อย้ายตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาตของหน่วยงานเจ้าของตู้โทรศัพท์ และกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนในการจัดระเบียบตู้โทรศัพท์นำร่องในเส้นทางต่างๆ ดังนี้ กลุ่มกรุงเทพใต้ ดำเนินการในถนนสุขุมวิท กลุ่มกรุงเทพกลาง ดำเนินการในถนนราชดำเนินกลาง กลุ่มกรุงเทพเหนือ ดำเนินการในถนนพหลโยธิน กลุ่มกรุงเทพตะวันออก ดำเนินการในถนนรามคำแหง กลุ่มกรุงธนใต้ ดำเนินการในถนนสุขสวัสดิ์ และกลุ่มกรุงธนเหนือ ดำเนินการในถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ส่วนกรณีที่มีการจอดรถจักรยานยนต์และตั้งวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบนทางเท้า ในเรื่องดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้มีหนังสือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือให้สำนักงานเขต และกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับรถและวินรถจักรยานยนต์รับจ้างทราบว่าการนำรถจักรยานยนต์มาจอดบนทางเท้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 17 ดังนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ให้ทางเท้าชำรุดเสียหาย และจอดรถหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือ มีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผัน ซึ่งการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ส่งผลให้เกิดการกีดขวางการสัญจรไปมาบนทางเท้าของประชาชนเข้าข่ายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ในส่วนของการดำเนินการจัดระเบียบป้ายโฆษณาในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ เป็นเหตุให้บ้านเมืองขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สกปรก รกรุงรัง กีดขวางทางสัญจร หรือบางป้ายมีแสงไฟที่สว่างเกินไปส่งผลกับการมองของประชาชน จึงขอความร่วมมือเทศกิจเขตดำเนินการจัดเก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมายและดำเนินคดีกับผู้ประกอบการตามขั้นตอนของกฎหมาย

โดยกรุงเทพมหานครจะดำเนินคดีอาญากับผู้ประกอบการที่ติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ในข้อหาทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย เช่น ต้นไม้ ทางเท้า ฯลฯ รวมถึงมีการฟ้องร้องทางแพ่ง และดำเนินการจัดเก็บภาษีป้ายกับทุกป้ายที่ได้มีการติดตั้ง 1 ป้าย 1 คดี ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบการอ้างว่ามีการเซ็นสัญญามอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการติดตั้งนั้น ในเรื่องดังกล่าว กทม.จะดำเนินคดีกับทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างดำเนินการติดตั้ง โดยทาง กทม.จะมีการเชิญผู้ประกอบการป้ายฯ มาหารือถึงแนวทางแก้ไขร่วมกัน รวมถึงชี้แจงมาตรการการดำเนินการของ กทม. ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ