เมื่อสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการจ่ายเงินสนับสนุนชาวสวนยาง ไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ หรือ 31,500 บาท เพื่อแก้ปัญหาม็อบ โดยจ่ายเฉพาะสวนยางที่เปิดหน้ายางมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และไม่ปลูกในที่บุกรุกป่าสงวน ผลปรากฏว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 55.0 ตอบว่า เห็นด้วยบางส่วนและไม่เห็นด้วยบางส่วน รองลงมาร้อยละ 24.7 เห็นด้วยเต็มที่ และที่เหลือร้อยละ 20.3 ไม่เห็นด้วยเลย
เมื่อสอบถามต่อว่า ทำไมรัฐบาลถึงไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของม็อบยางพาราที่ขอให้รัฐประกันราคายางแผ่นดิบที่กิโลกรัมละ 100 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราคาประมาณกิโลกรัมละ 78 บาท ผลสำรวจพบว่า อันดับหนึ่งร้อยละ 26.0 คิดว่าเป็นเพราะราคาที่เรียกร้องสูงเกินไปรัฐบาลมีงบจำกัด อันดับสองร้อยละ 23.3 คิดว่าว่าม็อบมีการเมืองหนุนหลัง อันดับสามร้อยละ 16.9 นายทุนจะได้ประโยชน์แทน อันดับสี่ร้อยละ 15.8 คนใต้ไม่ใช่ฐานเสียงรัฐบาล อันดับห้าร้อยละ 14.7 มีวิธีช่วยเหลืออื่นที่เหมาะสมกว่า และอีกร้อยละ 3.3 เชื่อว่าเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ
เมื่อถามว่าหากท่านเป็นรัฐบาลท่านจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐประกันราคายางแผ่นดิบที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท หรือไม่ ผลสำรวจพบว่าเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.9 จะตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง โดยเหตุผลหลักๆ คือ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและค่าครองชีพที่สูงขึ้น และต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว ขณะอีกร้อยละ 47.1 จะไม่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง โดยเหตุผลหลักๆ คือ ราคาที่เรียกร้องสูงเกินไป นายทุนจะได้ผลประโยชน์ เป็นเรื่องการเมือง และควรใช้วิธีการช่วยเหลือรูปแบบอื่นที่ดีกว่า
เมื่อสอบถามว่าการช่วยเหลือเกษตรกรยางพาราควรใช้งบประมาณช่วยเหลือไม่เกินรายละกี่บาท ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 14.7 ไม่ต้องการให้ช่วยเลย ส่วนร้อยละ 28.1 เห็นว่าควรช่วยไม่เกินรายละ 20,000 บาท ขณะที่ร้อยละ 27.3 เห็นว่าควรช่วยไม่เกินรายละ 40,000 บาท ส่วนร้อยละ 16.2 ควรช่วยไม่เกินรายละ 60,000 บาท ส่วนอีกร้อยละ 7.5 ควรช่วยไม่เกินรายละ 80,000 บาท และร้อยละ 6.2 ควรช่วยไม่เกินรายละ 100,000 บาท ซึ่งเมื่อหาค่าเฉลี่ยจะได้งบที่ควรใช้ในการช่วยเหลือชาวสวนยางรายละประมาณ 38,500 บาท
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของจากกลุ่มตัวอย่างคนอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,074 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, หนองคาย, ชัยภูมิ, เลย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, นครพนม, หนองบัวลำภู, สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, ยโสธร, อำนาจเจริญ และบึงกาฬ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2556