สำหรับประเด็นในการสอบสวนอุบัติเหตุครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทำไมล้อหัก ขณะที่ยังไม่ครบอายุการใช้งาน และเครื่องบินได้ผ่านขั้นตอนการบำรุงรักษาตามกำหนด และ 2.ประกายไฟเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ซึ่งคาดว่าการตรวจสอบจะใช้เวลาพอสมควร และการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ แต่ไม่ได้มุ่งหาคนผิด
ส่วนการกู้เครื่องบินออกจากพื้นที่นั้น มีความคืบหน้ากว่า 50% ซึ่งบมจ. การบินไทย (THAI) อยู่ระหว่างการกู้เครื่องบินออกจากพื้นที่ โดยจะใช้เครนจากท่าเรือแหลมฉบัง มายกเครื่องบิน เนื่องจากล้อของเครื่องบินจมลงอยู่ในดิน และจะนำหินมาโรยบนพื้นบริเวณรอบเครื่องบิน เพื่อปรับให้พื้นดินแข็งพร้อมที่จะรองรับน้ำหนักเครื่องบินในขณะลากเครื่องบินออกจากพื้นที่
นายอภินันท์ วรรณางกูร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ปฏิบัติการ) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) กล่าวว่า ข้อมูลการบินตั้งแต่เวลา 07.00-15.00 น. ของวันที่ 10 ก.ย.2556 พบว่ามีเครื่องบินวนบนอากาศ เพื่อรอนำเครื่องลง จำนวน 42 เที่ยว เฉลี่ยดีเลย์ลำละ 10 นาที และมีเครื่องบินรออยู่บนภาคพื้นดินเพื่อรอนำเครื่องขึ้นบิน จำนวน 130 เที่ยว เฉลี่ยดีเลย์ลำละ 20 นาที โดยบวท.ได้พยายามให้เครื่องบินที่อยู่บนอากาศบินรอให้น้อยที่สุด เพื่อประหยัดน้ำมัน จึงทำให้เครื่องที่อยู่บนภาคพื้นดิน อาจจะต้องใช้เวลาในการรอนานกว่าเล็กน้อย
"การที่เครื่องบิน บินวนอยู่บนอากาศประมาณ10 นาที ถือว่าไม่นาน และเป็นเรื่องปกติของการให้บริการเที่ยวบินโดยทั่วไปที่อาจจะมีปัญหาความล่าช้าบ้าง แต่จะพยายามไม่ให้รอนาน เพราะหากรอไม่ไหวน้ำมันจะหมด ก็อาจต้องไปลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานอู่ตะเภา จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากของผู้โดยสาร"นายอภินันท์ กล่าว