รวมทั้งพิจารณาการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาและแก้ไขสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 3 รายการ วงเงิน 453,142,600 บาท ดังนี้ 1. อนุมัติงบประมาณด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่ 2. อนุมัติงบประมาณสำหรับโครงการอาสาสมัครพิทักษ์เมือง (อส.พม) จำนวน 77,970,000 บาท
และ 3. อนุมัติงบประมาณเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดชายแดนภาคใต้ 42 โครงการ วงเงิน 375,172,600 บาท แบ่งเป็นโครงการด้านระบบไฟฟ้าส่องสว่าง 2 โครงการ วงเงิน 83,727,800 บาท และโครงการก่อสร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวก 40 โครงการ วงเงิน 291,444,800 บาท ซึ่งจะดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ ประธานฯ ได้กำชับให้ระมัดระวังอย่าให้โครงการก่อสร้างถนนของกระทรวงมหาดไทยไปซ้ำซ้อนกับโครงการของกระทรวงคมนาคม และให้จัดลำดับความสำคัญในการก่อสร้างตามหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 1. ต้องเป็นถนนสายหลักที่เข้าหมู่บ้าน 2. เป็นถนนทางเลือก กรณีถนนสายหลักใช้การไม่ได้ หรือ 3. เป็นถนนเส้นใหม่ที่มีความปลอดภัยมากกว่าเดิม ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยนำยางพาราไปใช้สร้างถนนในพื้นที่ด้วย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอีกทางหนึ่งด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ได้รับแจ้งว่ากระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงคมนาคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ลงไปสำรวจเส้นทาง และจุดก่อสร้างไฟฟ้าส่องสว่างแล้ว พบว่าไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่มีอยู่
ขณะเดียวกัน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเสนาธิการ กอ.รมน.แจ้งกับที่ประชุมว่า กระทรวงพลังงานที่ได้มอบถังแก๊สแบบใหม่ 100 ถัง ซึ่งเป็นถังคอมโพสิท และใช้เรซิ่นผสมใยแก้วเป็นกรรมวิธีในการผลิต มาให้ กอ.รมน. ทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจากการทดสอบการยิงพบว่าสามารถยิงทะลุแต่ไม่ระเบิด และวัสดุที่ใช้ทำให้ถังแก๊สมีน้ำหนักเบาขึ้น จึงเชื่อว่าจะลดปัญหาการนำถังแก๊สไปใช้เป็นส่วนประกอบวัตถุระเบิดได้
พร้อมระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เสนอให้ใช้ถังแก๊สที่มีสีสันที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและสังเกตการใช้ถังแก๊สที่ผิดปกติด้วย แต่ก็ไม่ได้ห้ามการนำถังแก๊สจากพื้นที่อื่นเข้ามาใช้ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบ และจะนำไปพิจารณาต่อไป