ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารการเกิดโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดรวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อยานพาหนะเข้า-ออก ได้แก่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันทีและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก
จากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ ตามโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกแบบบูรณาการของประเทศไทย 2 ครั้งที่ผ่านมาในเดือนมกราคม 2556 และ กรกฎาคม 2556 เก็บตัวอย่างในสัตว์ปีกที่เลี้ยงปล่อยบริเวณบ้านในพื้นที่เสี่ยง และเป็ดไล่ทุ่ง จำนวนทั้งสิ้น 35,003 ตัวอย่าง ให้ผลเป็นลบทั้งหมด เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นและยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันโรค กรมปศุสัตว์จึงได้กำหนดให้ดำเนินกิจกรรมฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยสั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ จัดเจ้าหน้าที่และเครือข่ายลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทุกหลังคาเรือน และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนในรัศมี 10 กิโลเมตร โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556—กุมภาพันธ์ 2557หากพบว่ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติสงสัยโรคไข้หวัดนกให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและสาธารณสุขอำเภอ เพื่อดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวัง และควบคุมโรคตามที่กำหนดไว้ต่อไป
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล(อบต.) ในพื้นที่ทันที