รัฐบาลคาดเซ็นสัญญาโครงการน้ำได้ต้นปี 57 เดินหน้าสำรวจความเห็นปชช.

ข่าวทั่วไป Monday September 30, 2013 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) คาดว่าน่าจะเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนทั้ง 4 รายเพื่อดำเนินโครงการทั้ง 9 โมดูลได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.57 หรือ ต้นเดือน ก.พ. 57

สำหรับความคืบหน้าในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการบริหารจัดการน้ำตามพ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาททั้งหมด 36 จังหวัด สิ้นสุดวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม โดยคณะกรรมการแต่ละโมดูลจะรวบรวมความคิดเห็น ส่วนอีก 41 จังหวัดที่เหลือก็จะครบทั้ง 77 จังหวัดนั้นจะมีการออกแบบสอบถามเพื่อสอบถามในภาพรวม โดยจะส่งไปยังสถาบันการศึกษา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ประสานส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพื่อให้ประชาชนกรอกแบบสอบถาม แต่ทั้งนี้ก่อนกรอกแบบสอบถามจะต้องได้รับความรู้ก่อน โดยรัฐบาลจะมีการนำเสนอข้อมูลออกทีวี มีสกู๊ปออกทีวี มีเอกสารลงในหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีนายสุขุม เฉลยทรัพย์ จากสวนดุสิตโพลล์จะมาเป็นตัวหลักในการทำงานนี้

หลังจากวันที่ 6 ธ.ค. จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลโดยใช้เวลาประมาณ 15 วัน จากนั้นประมาณวันที่ 21-22 ธ.ค. ก็จะเสร็จและสามารถประกาศให้สาธารณชนทราบได้ตามช่องทางต่าง ๆ และจากนั้นคณะกรรมการในแต่ละโมดูลก็จะนำข้อมูลทั้งด้านบวกด้านลบมาประมวลในแต่ละโมดูลด้วย เพราะตอนนี้ในส่วนของฟลัดเวย์ และเขื่อนมีการร่างสัญญาเอาไว้แล้ว ก็จะนำข้อมูลมาดูว่าความคิดเห็นประชาชนเป็นอย่างไรเพื่อลดผลกระทบให้ดีที่สุด เพราะเวลาทำโครงการอะไรก็ตามก็ต้องมีผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและประชาชน แต่ทำอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุด แต่ถ้าจะไม่ให้มีผลกระทบเลยคือไม่ต้องทำแต่มันก็จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชาติไม่ได้

"ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่เห็นด้วยมาก ๆ แล้วจะไม่ทำ ซึ่งไม่ใช่ เพราะการไม่เห็นด้วยมันต้องมีเหตุผลเราก็เอาตรงนี้มาลดผลกระทบให้น้อยที่สุด"นายสุพจน์ กล่าว

ด้านคดีที่อยู่ในศาลนั้น รักษาการเลขาธิการสบอช. กล่าวว่า อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หากศาลตัดสินเร็วออกมาว่าเป็นอย่างไรเราก็ทำตามที่ศาลชี้ แต่ระหว่างนี้เมื่อยังไม่มีการตัดสินตามคำอุทธรณ์รัฐบาลก็ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว คือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามคำสั่งศาล ตามรัฐธรรมนูญครบถ้วน จากนั้นก็เข้ากระบวนการเซ็นสัญญาได้ เพราะถ้าดำเนินการช้าก็ยังจะเกิดน้ำท่วมแบบนี้อีก ปีหน้าก็จะเกิดแบบนี้อีก

"ถ้าทำโครงการนี้เสร็จปัญหาหลายจุดที่ไม่นับรวมปราจีนบุรีซึ่งเป็นน้ำท่วมอีกแบบหนึ่ง แต่แถวลุ่มเจ้าพระยา อ่างทองก็จะไม่มีน้ำก็จะไม่ท่วมอีก"นายสุพจน์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ นายสุพจน์ กล่าวว่า ปีนี้ยังน้อยกว่าปี 54 ถึง 3 เท่า แต่ที่ดูเหมือนสถานการณ์จะหนักเพราะนักวิชาการออกมาพูดยิ่งหนักและไปถ่ายภาพในจุดที่น้ำท่วมมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ