(เพิ่มเติม) กรมป้องกันฯ เผยยังเหลือสถานการณ์น้ำท่วม 24 จังหวัด เสียชีวิต 30 ราย

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ว่า ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 33 จังหวัด 250 อำเภอ ความเสียหาย พื้นที่เกษตร 2,168,466 ไร่ ถนน 4,947 สาย สะพาน 201 แห่ง ท่อระบายน้ำ 408 แห่ง ฝาย/ทำนบ 518 แห่ง น้ำท่วมบ้านเรือน 14,703 หลัง โรงเรียน 218 โรง วัด 325 แห่ง สถานที่ราชการ 56 แห่ง อื่นๆ ระหว่างสำรวจ อ 1,554 ตำบล 12,667 หมู่บ้าน 898,383 ครัวเรือน 2,999,265 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 30 ราย (จ.สุรินทร์ 11 ราย/จ.ศรีสะเกษ 9 ราย/จ.นครนายก 2 ราย/ จ.ยโสธร 2 ราย/จ.ปราจีนบุรี 5 ราย /จ.สระแก้ว 1 ราย)

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 24 จังหวัด 172 อำเภอ 1,050 ตำบล 8,020 หมู่บ้าน 546,959 ครัวเรือน 2,002,122 คน อพยพ 4,416 ครัวเรือน 15,254 คน (จ.อุบลฯ/จ.ศรีสะเกษ) คลี่คลายแล้ว 9 จังหวัด (กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง มุกดาหาร)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์การณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัด ว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลงเป็นอย่างมาก จาก 33 จังหวัดเหลือ 24 จังหวัด โดยแบ่งออกเป็น 2 ปะเภท คือน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำหลาก 20 จังหวัดและน้ำท่วมที่เกิดน้ำทุ่ง 4 จังหวัด ซึ่งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆไม่มีน้ำท่วมขัง และขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 30 รายซึ่งเกิดจากสาเหตุการจมน้ำ ระหว่างการประกอบอาชีพ และยืนยันว่าไม่มีการเสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช็อต เนื่องจากได้มีการตัดไฟเพื่อความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นอันตรายและเป็นจุดเสี่ยง

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการใน 2 เรื่อง คือ 1. ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชนว่าพื้นที่ใดเป็นจุดเสี่ยง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยว 2. ให้เร่งบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยสั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่

ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทุกภัยนั้น นายฉัตรชัย กล่าวว่า มีการแจ้งเตือนและอพยพรวมถึงเมื่อมีการอพยพแล้วจะมีการดูแลด้านอาชีพและบริหารภาวะอารมณ์ของผู้ประสบภัย ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการสำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบาง เช่น คนชรา คนพิการ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการอพยพ และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักจิตวิทยา มาดูแลคนที่มีความเครียด รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจลาดตระเวนในพื้นที่ค่อยดูแลรักษาความปลอดภัย

ขณะที่ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการประเมินจากทางราชการอย่างเป็นธรรม โดยการช่วยเหลือเยียวยาต่อบ้านเรือนจะไม่เกินหลังละ 33,000 บาท กรณีที่มีผู้เสียชีวิตจะมีการสงเคราะห์ค่าทำศพรายละ 25,000 บาท แต่หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะช่วยสงเคราะห์รายละ 50,000 บาท

ขณะที่พื้นที่ทำเกษตรกรรม จะสำรวจหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว โดยจะตั้งคณะกรรมร่วมในระดับท้องถิ่น และผู้เสียหายร่วมกันประเมิน ทั้งนี้ได้มีการสั่งการให้ทำข้อมูลความเสียหายทั้งหมดโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เห็นชอบให้แต่ละพื้นที่ใช้เงินทดรองราชการไปก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินงบประมาณ และหากไม่เพียงพอก็สามารถขอเพิ่มวงเงินได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ