สบอช.ระบุ"เขื่อนแม่วงก์"แค่ทางเลือกจัดการน้ำ เชิญ"ศศิน"หารือสัปดาห์หน้า

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) จากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งหากรายงานไม่ผ่านก็ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์

กระบวนการขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะรายงานดังกล่าวอาจจะต้องมีการแก้ไขอีกครั้ง และหาก สผ.พิจารณาแล้วไม่ผ่าน และเห็นว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่มีความเหมาะสมก็อาจจะไม่มีการสร้างเขื่อนวงก์ และใช้เครื่องมืออื่นแทน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความต้องการสร้างเขื่อน แต่ต้องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เขื่อนก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น

"ไม่ใช่ว่าการสร้างเขื่อนจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด"นายสุพจน์ กล่าว

ส่วนการเลือกพื้นที่เขาสบกกแทนพื้นที่เขาชนกันนั้น เป็นเพราะการสร้างเขื่อนที่เขาชนกันจะกระทบต่อประชาชนถึง 2 พันครัวเรือน แต่ในพื้นที่เขาสบกกมีประชาชนที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เพียง 30 ครัวเรือนเท่านั้น

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ทางวิชาการ การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้โดยจะสามารถตัดยอดน้ำจาก 1,042 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 490 ต่อลูกบาศก์เมตร และจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งได้อีกด้วย ขณะที่ผลกระทบต่างๆจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เช่น พื้นที่ป่า 12,300 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 2.2% ของลุ่มน้ำทั้งหมดก็จะมีการปลูกป่าชดเชย เป็น 3 เท่าของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือ 36,000 ไร่

ส่วนอาคารต่างๆในพื้นที่ เช่น ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานก็จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ พร้อมทั้งชดเชยที่ดินและทรัพย์สินจำนวน 15,742 ไร่ โดยยืนยันว่ามีการศึกษาก่อนการก่อสร้างในทุกมิติด้วยหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจน และส่วนตัวเชื่อว่ารายงานดังกล่าวจะสามารถผ่านการพิจารณาของสผ.

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมด้วยทีมงานมาพูดคุย เพื่อรับฟังข้อห่วงใยต่างๆในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งทางรัฐบาลยินดีจะรับพิจารณา และจะอธิบายในส่วนข้อกังวลที่ได้มีการศึกษามาแล้วและจะนำข้อเสนอที่ทางรัฐบาลไม่เคยศึกษามาก่อนไปพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ