ทั้งนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัดคือ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร กาฬสินธุ์ นครราชสีมา พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง มุกดาหาร และกำแพงเพชร แต่ยังคงมีสถานการณ์ 28 จังหวัด 182 อำเภอ 1,097 ตำบล 8,115 หมู่บ้าน 561,737 ครัวเรือน แยกเป็นอุทกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำระบายไม่ทัน 24 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ยโสธร และขอนแก่น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุทัยธานี และเชียงใหม่ ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี และระยอง แยกเป็นอุทกภัยจากน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีและสุพรรณบุรี
นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า บริเวณความกดอากาศสูงอีกระลอกจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในช่วงวันที่ 7-11 ต.ค. ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง 2-5 องศา และยังคงมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวไทยตอนบนได้เลื่อนลงอ่าวไทยตอนกลางแล้ว ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทาให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูงประมาณ 3 เมตรบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กที่ควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 6-8 ต.ค.นี้.