ส่วนที่ จ.นนทบุรี ในอำเภอปากเกร็ด ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ วัดเกาะพญาเจ่ง วัดป่าเลไลยก์ (ร้าง) และวัดท้องคุ้ง ซึ่งระดับน้ำได้ลดลงเรื่อยๆจนแห้งแล้ว, จ.สุพรรณบุรี ได้รับผลกระทบ 11 แห่ง ในอำเภอเมือง 8 แห่ง อาทิ วัดแค วัดปู่บัว วัดสำปะซิว วัดโพธิ์คลาน วัดพระรูป เป็นต้น อำเภอบางปลาม้า 2 แห่ง ได้แก่ วัดอู่ทอง วัดบางยี่หน และในอำเภอศรีประจันต์ คือ วัดไก่เตี้ย ซึ่งระดับน้ำได้ลดลงเรื่อยๆจนแห้งแล้ว, จ.ปทุมธานี ในอำเภอสามโคก ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ วัดสะแก วัดสองพี่น้อง และวัดพลับสุธาวาส ซึ่งระดับน้ำได้ลดลงเรื่อยๆจนแห้งแล้ว
จ.พระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถานหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นของเขื่อนป่าสัก ทั้งวัดไชยวัฒนารามมีระดับน้ำสูงกว่าสันเขื่อน 50 ซม. วัดธรรมมาราม 40 ซม. ป้อมเพชร 10 ซม. และหมู่บ้านโปรตุเกส 10 ซม. ซึ่งในเบื้องต้นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้เตรียมความพร้อมในการรับมือ โดยจัดเจ้าหน้าที่ 200 คน ไว้สำหรับป้องกันน้ำท่วม และจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ป้องกัน อาทิ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ ยานพาหนะ เป็นต้น
ทั้งนี้ จะดำเนินการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศิลปากร และสำนักศิลปากรในพื้นที่ต่างๆ วางมาตรการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถานอย่างเร่งด่วน รวมทั้งลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวางแนวทางบูรณะซ่อมแซมต่อไป
นอกจากนี้ กรมการศาสนา ได้รายงานว่ามีวัดที่ได้รับผลกระทบกว่า 307 แห่ง และพระภิกษุสามเณรกว่า 3,104 รูป ใน 10 จังหวัด อาทิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้น กรมการศาสนาได้ดำเนินการช่วยเหลือพระภิกษุสามเณร โดยจัดส่งเงินจากบัญชีสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรและผู้ประสบภัย เพื่อจัดซื้อเครื่องอุปโภคและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ถวายพระภิกษุสามเณรที่ประสบอุทกภัย