นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดประสานการดำเนินงาน พร้อมรายงานสถานการณ์ต่อรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์อุทกภัย ดูแลพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นระยะอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสั่งการและวางแผน ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่
สำหรับสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 38 จังหวัด 283 อำเภอ 1,747 ตำบล 14,044 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 961,067 ครัวเรือน 3,147,892 คน บ้านเรือนเสียหาย 15,611 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,178,372 ไร่ ผู้เสียชีวิต 36 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และชุมพร ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 27 จังหวัด แยกเป็น น้ำป่าไหลหลาก 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ยโสธร และขอนแก่น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และอุทัยธานี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี และระยอง
แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนล้นตลิ่ง 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรีและสุพรรณบุรี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 16 อำเภอ 142 ตำบล 656 หมู่บ้าน แนวโน้มสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ พื้นที่ท้ายเขื่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ