โรงพยาบาลสนามดังกล่าวจะมีแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลกบินทร์บุรีและชลบุรี รวม 15 คนให้บริการรักษาโรคทั่วๆไป และทำแผลตลอด 24 ชั่วโมง มีรถพยาบาลฉุกเฉินประจำการในการส่งต่อผู้ป่วย เริ่มให้บริการตั้งแต่วานนี้ โดยมีผู้ป่วย 150 รายเข้ามาใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า
ขณะที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรีก็ยังเปิดให้บริการปกติ และได้สำรองยาเวชภัณฑ์สำหรับใช้การได้ 2 เดือน โดยมีรถยกสูงของทหารคอยรับส่งผู้ป่วย และวันนี้จะตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 1แห่ง ที่อ.ศรีมหาโพธิ บริเวณตลาดท่าประชุม เป็นหน่วยแพทย์สนามจากโรงพยาบาลระยอง
เจ้าหน้าที่ได้เร่งอพยพกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่มออกจากพื้นที่ประสบภัยและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคลมชัก คนพิการหรืออัมพาต ให้หมดภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากหากเจ็บป่วยช่วงกลางคืนจะมีความยากลำบากในการดูแล รอบแรกนำออกจากพื้นที่แล้วเกือบ 10,000 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านญาติ ที่เหลืออยู่ในจุดอพยพ และที่โรงพยาบาล
และให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพื้นที่น้ำท่วมสัปดาห์ละ 1—3 ครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่น้ำลึกมากให้ออกหน่วยถี่ขึ้น และให้ส่งหน่วยเยี่ยมบ้านดูแลผู้ที่ยังอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำเรื่องอาหารกล่องให้ติดวันที่ผลิตและเวลาที่ควรบริโภค เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
ด้านนายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบเวชภัณฑ์ยา ชุดยังชีพ แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ต.บ้านด่าน และต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นจุดที่น้ำท่วมขังสูงประมาณ 1 เมตร เรื่องที่น่าห่วงคือมีเรือล่มในพื้นที่ทุกวัน วันละประมาณ 2 ลำ เนื่องจากไม่คุ้นเคยในการใช้เรือ จึงขอให้ประชาชนพกอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น เสื้อชูชีพ ถัง/แกลลอนเปล่าที่มีฝาปิด เพื่อใช้พยุงตัว ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากหากตกน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้