ทั้งนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง กำแพงเพชร อุทัยธานี นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ยโสธร) ความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร 3,259,760 ไร่ ถนน 5,714 สาย สะพาน 299 แห่ง ท่อระบายน้ำ 521 แห่ง ฝาย/ทำนบ 521 แห่ง น้ำท่วมบ้านเรือน 29,289 หลัง โรงเรียน 260 โรง วัด 442 แห่ง สถานที่ราชการ 61 แห่ง
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 28 จังหวัด 158 อำเภอ 986 ตำบล 7,604 หมู่บ้าน 478,176 ครัวเรือน 1,650,527 คน อพยพ 3,686 ครัวเรือน 10,868 คน แยกเป็นจังหวัดระดับความรุนแรง 3 จังหวัด (สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา) ปานกลาง 15 จังหวัด (บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ชลบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท นครนายก ราชบุรี ปทุมธานี) เล็กน้อย 10 จังหวัด (ลพบุรี ขอนแก่น ระยอง จันทบุรี กาญจนบุรี สระบุรี พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ)
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีการพร่องน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำในทันที่ทันใดนั้น ปัจจุบันได้มีการพร่องน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในเกณฑ์ประมาณ 400 และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ประมาณ 550-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ลักษณะดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนพระรามหก เพิ่มสูงขึ้นอีก ซึ่งการพร่องน้ำในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจหลัก ในเขตอำเภอท่าเรือ นครหลวง พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย จะมีเพียงน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักบางแห่ง ที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเท่านั้น