จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่าผู้ป่วยอาศัยอยู่ในเขตมณฑลเจียงซี มีประวัติเดินทางไปตลาดสดค้าสัตว์ปีกในท้องถิ่น เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 และเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2556 โดยทางการจีนได้เฝ้าระวังคนในครอบครัวและผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ขณะนี้ทุกคนไม่มีอาการผิดปกติ และจัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ติดชายแดนทุกจุด
สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก ทั้งสายพันธุ์เอช 10 เอ็น 8 และเอช 7 เอ็น 5 ชนิดที่พบในประเทศจีน เคยพบเฉพาะสายพันธุ์เอช 5 เอ็น1 (H5N1) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง ในช่วงปี 2547 - 2549 และไม่มีรายงานผู้ป่วยติดต่อกันจนถึงขณะนี้รวมกว่า 6 ปี โดยไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ทำงานร่วมกัน 3 กระทรวง คือกระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังในคน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังในนกธรรมชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สุ่มตรวจสัตว์ปีกภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และได้ขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการเฝ้าระวังการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกในคนทุกสายพันธุ์ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเอาใจใส่ตรวจสอบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงทุกราย และดำเนินการสอบสวนโรค พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาสาเหตุการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติเสี่ยง เช่น สัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วย ตาย หรือได้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค พร้อมทั้งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจยืนยันเชื้อ