สำหรับสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด คือ H5N1 และมักมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าวัยอื่น และในช่วงนี้หลายพื้นที่อากาศหนาวเย็นและเริ่มมีนกอพยพหนีสภาพอากาศหนาวจากต่างประเทศมาที่ประเทศไทย อาจนำเชื้อมาแพร่ที่ประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา แต่จากการประเมินความเสี่ยงของไทยต่อการระบาดของโรคไข้วัดนก โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 พบว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ที่โรคอาจจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงยังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวชายแดน ผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก รวมทั้งการเดินทางไปมาของประชาชน
ดังนั้น จึงมอบให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เน้นหนักจังหวัดที่เคยพบสัตว์ปีกหรือคนติดเชื้อไข้หวัดนก รวมทั้งจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า ให้คงมาตรการเฝ้าระวังโรคนี้ทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างเข้มข้น ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ ครอบคลุมระดับหมู่บ้านและโรงพยาบาล เพื่อตรวจจับโรคที่รวดเร็ว
ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังในในกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง 2.ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดและมีอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 3.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่พบตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปที่ป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน และ4.บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ หากพบผู้ป่วยดังกล่าวให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุกราย ส่วนในสัตว์ปีกให้ อสม.ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่เฝ้าระวังการป่วยตายผิดปกติในสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านเรือนและธรรมชาติ หากพบให้ดำเนินการเก็บตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีและแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข
สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ องค์การอนามัยโลกรายงาน ดังนี้ 1.ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ยังพบในประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในคนและสัตว์ อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยยืนยันใน 15 ประเทศ ตั้งแต่ปี 46-56 รายงาน วันที่ 13 ธ.ค.56 พบผู้ป่วยทั้งหมด 648 ราย เสียชีวิต 384 ราย 2.สายพันธุ์ H10N8 มีรายงานผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 17 ธ.ค.56 ที่จีน ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงวัย 73 ปี มีประวัติเดินทางไปตลาดสดค้าสัตว์ปีกในท้องถิ่น 3.สายพันธุ์ H7N9 พบ ผู้ป่วยในปี 56 ตั้งแต่มี.ค.-25 ต.ค.รวม 137 ราย เสียชีวิต 45 ราย พบในจีนและไต้หวัน