สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(2 ม.ค. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 14,259 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 7,563 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 7,186 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,386 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,737 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,887 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 572 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 529 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 764 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 761 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(2 ม.ค. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,866 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนฯ อีกประมาณ 3,400 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 19 ธ.ค. 56) พบว่า มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 4.23 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 143 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 2.95 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 4.20 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 145 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 2.90 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.03 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.05 ล้านไร่)
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้ประกาศแจ้งให้เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทราบทุกโครงการฯแล้วว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไป จะระบายน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภค – บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย พร้อมขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูแล้งอย่างไม่ขาดแคลน