ล่าสุดองค์การอนามัยโลกได้รายงานเมื่อ 14 มกราคม 2557 พบผู้ป่วยไข้หวัดนก สายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ตั้งแต่กลางปี 2556 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวน 169 ราย เสียชีวิต 48 ราย ผู้ป่วยที่รายงานทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบเชื้อชนิดนี้ ทั้งในสัตว์ปีก สัตว์ป่า และในคน โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ของไทย สามารถตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 ได้
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคในกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง 2.ผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดและมีอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 3.ผู้ป่วยปอดอักเสบที่พบตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ที่ป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน และ4.บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ หากพบผู้ป่วยดังกล่าวให้แจ้งหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทุกราย ส่วนในสัตว์ปีกให้อาสาสมัครสาธารณสุขร่วมกับ ปศุสัตว์จังหวัด กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในพื้นที่ เฝ้าระวังการป่วยตายผิดปกติ สำหรับสัตว์ปีก ที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และในธรรมชาติ หากพบสงสัยโรคไข้หวัดนกให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทันทีและแจ้งหน่วยงานสาธารณสุข
ทางด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อและป่วยจากไข้หวัดนก ได้แก่ ซูบผอม ซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ปริมาณไข่ลดลง หน้าบวม หงอนและ เหนียงบวม มีสีคล้ำ ท้องเสีย หากพบสัตว์มีอาการดังกล่าว ให้สงสัยอาจติดเชื้อไข้หวัดนก ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์ อสม.หรือผู้นำชุมชน เพื่อควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วที่สุด และขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ห้ามนำสัตว์ปีกที่ตายแล้วหรือกำลังป่วยสงสัยป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน
เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก ประชาชนที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งไม่สัมผัสกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ และหากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือผู้ป่วยปอดบวม ไอจามให้ปิดปากปิดจมูก สวมหน้ากากป้องกันโรค เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย และรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสโรคหรือแจ้งประวัติการเดินทาง