กรมป้องกันฯ เผยจ.ขอนแก่น-มหาสารคาม-บุรีรัมย์-สิงห์บุรีเป็นจ.ประสบภัยแล้ง

ข่าวทั่วไป Friday January 17, 2014 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บางพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2556 – 17 มกราคม 2557 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ และสิงห์บุรี รวม 19 อำเภอ 121 ตำบล 1,148 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ ปภ.ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้อุปโภคบริโภคและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำจากกรมชลประทาน พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 50,089 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างฯ มากกว่าปี 2555 (46,995 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 3,094 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ สะสม 4,479 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำระบายสะสม 6,403 ล้านลูกบาศก์เมตรอย่างไรก็ตาม เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปี 2557 อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก โดยขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,478 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,979 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 568 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเขื่อนทั้ง 3 แห่ง เป็นเขื่อนหลักที่ทำหน้าที่จ่ายน้ำในแก่ภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจำนวนกว่า 3 ล้านไร่ตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อลดผลกระทบจากภัยแล้ง จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวใช้น้ำอย่างประหยัด และเกษตรกรควรเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชทนแล้ง โดยวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ