ทั้งนี้ เพื่อดูแลและควบคุมสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดและกลุ่มผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุมในครั้งนี้เพื่อให้ขบวนการประชาธิปไตยของประเทศได้เดินหน้าต่อไป เนื่องจากการชุมนุมประท้วงมีการกระทำที่เกินเลยขอบเขต และมีการก่อเหตุจากผู้ไม่ประสงค์ดีจนทำให้ประชาชนเสียชีวิต รวมทั้งมีการเสนอข้อมูลข่าวสารในสื่อต่างๆ ในลักษณะบิดเบือน ยุยงสร้างความแตกแยก ส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ โดยรัฐบาลจะยึดแนวทางการปฏิบัติตามหลักสากลแก่ผู้ชุมนุม และจะไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม
ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจอำนวยการด้วย และ ครม.มีมติแต่งตั้งให้นายสุรพงษ์ เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุรพงษ์ ระบุว่า พรุ่งนี้จะมีการเชิญทูตต่างประเทศมารับการชี้แจงการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน กล่าวในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.)ที่จะทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติของ ศรส.มี 5 ข้อ คือ ใช้กฎหมายเป็นหลัก, ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือการชุมนุมโดยสงบสันติปราศจากอาวุธ, การดูแลผู้ชุมนุมของเจ้าหน้าที่จะใช้หลักสากล กระทำการด้วยความละมุนละม่อม เน้นการเจรจามากกว่าใช้กำลัง และ ผู้ชุมนุมและผู้เกี่ยวข้องต้องเคารพสิทธิของบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน
"จะไม่มีการสลายม็อบในเวลากลางคืน ไม่คิดเข้าไปทำลาย จะใช้การเจรจาใช้กฎหมายเป็นหลัก ไม่คิดใช้เอ็ม 16 หรืออาร์ก้า"ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการชี้แจงรายละเอียดการจัดตั้ง ศรส.ทั้งหมดในเวลา 13.00 น.ที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม โดยเชื่อว่าภายหลังจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรง เพราะการกำหนดระยะเวลา 60 วันก็คงทำให้ฝั่งผู้ชุมนุมอ่อนล้าลงไปด้วยเช่นกัน โดยยังไม่ขอกำหนดเส้นตายว่าจะดูแลสถานการณ์ให้กลับสู่ความสงบเรียบร้อยได้เมื่อใด
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ พร้อมทั้งยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ในการเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยจะเน้นพื้นที่ที่มีความเดือดร้อนและมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการประเมินพบว่าพื้นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเป็นจุดที่ประชาชนไดรับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการทำหนังสือเดินทางที่กรมการกงสุล ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเน้นเข้าไปพูดคุย และให้น้ำหนักกับแกนนำผู้ชุมนุมและผู้สนับสนุนที่เวทีแจ้งวัฒนะเป็นหลัก คาดว่าหลังจากออกประกาศ ศรส.ภายใน 1-2 วันนี้ กรมการกงสุลจะต้องทำงานได้
กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้การเดินรณรงค์เชิญชวนประชาชนในกรุงเทพนั้น ศรส.อาจจะออกข้อห้ามในการเคลื่อนขบวน หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย รวมถึงจะมีการกำหนดการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างเข้มงวดในช่วงที่มีการเลือกตั้งด้วย เพราะยอมรับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ออกมาเพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมยันยันว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติของ ศรส.แล้ว นอกจากนั้น การเลือกใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก ถือว่าเป็นการปโฏิบัติตามหลักสากล ซึ่งอาจจะมีความแตกต่างจากปี 53 ที่ใช้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นหลัก แต่ครั้งนี้จะใช้กำลังผสมระหว่างตำรวจและทหารทำงานร่วมกัน
ส่วนจะมีการปิดสถานีโทรทัศน์บลูสกายหรือไม่นั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น แต่จะเน้นการเจรจาทำความเข้าใจเพื่อให้มีการสื่อสารข้อมูลตามข้อเท็จจริง