ทั้งนี้ โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น9 (H7N9) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่เกิดในนก ไวรัส ในกลุ่มเดียวกันที่เคยทำให้เกิดโรคในคนได้แก่ เอช7เอ็น 2( H7N2), เอช 7เอ็น3 (H7N3) เอช 5 เอ็น1 (H5N1) และเอช 7 เอ็น 7 (H7N7) สำหรับเชื้อเอช 7 เอ็น 9 ยังไม่เคยมีรายงานว่าเกิดโรคกับคน จนกระทั่งมีรายงานการระบาดในจีน ข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 20 มกราคม 2557 รายงานผู้ป่วยทั้งหมด 205 ราย เสียชีวิต 49 ราย อายุระหว่าง 4-87 ปี
ผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่จะมีอาการปอดบวมรุนแรง โดยเริ่มจากอาการไข้ ไอ หายใจหอบ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคนติดเชื้ออย่างไร แต่จากข้อมูลผู้ป่วยพบว่ามีประวัติการสัมผัสหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสัตว์ เช่น ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต นอกจากนี้ ยังตรวจพบเชื้อในนกพิราบ เป็ด และไก่ สำหรับโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 8 และเอช 10 เอ็น 8 ที่มีรายงานในประเทศเกาหลีใต้ ปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อเฉพาะในสัตว์ปีก ยังไม่มีรายงานในคน
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในไทยที่ผ่านมาพบสัตว์ปีกและคน ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ที่พบในต่างประเทศ ยังไม่เคยมีรายงานในไทยมาก่อน
สำหรับในการป้องกันโรคไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตาม 5 มาตรการ ดังนี้ 1.เร่งรัดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ทั้งในคนและในสัตว์ 2.หากมีผู้ป่วยสงสัย ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจเพื่อหาสาเหตุ และตรวจสอบว่ามีประวัติเสี่ยงหรือไม่ เช่น ประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตาย ประวัติเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค หรือสัมผัสใกล้ชิด/ให้การดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบ
3. ขอความร่วมมือจาก อสม. และประสานงานปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในพื้นที่ ทำการเฝ้าระวังการป่วยตายผิดปกติของสัตว์ปีกที่เลี้ยง และในนกธรรมชาติ 4.แจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล และ5.ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ และประชาชนทั่วไปในเรื่องการป้องกันโรค
ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับไวรัสไข้หวัดนกในคนทุกสายพันธุ์ จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองโดยมีวิธีปฏิบัติที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกได้ คือ 1.ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังจากดูแลสัตว์หรือหลังการดูแลผู้ป่วย 2.ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือผ้าเช็ดหน้าหรือแขนเสื้อและสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด 3.สามารถรับประทานไก่เป็ดได้อย่างปลอดภัย แต่ต้องระมัดระวังการชำแหล่ะ และต้องปรุงให้สุก สำหรับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายไม่ควรนำมารับประทาน
4.หากไปตลาดสด ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีชีวิต รวมทั้งอุปกรณ์ที่บรรจุสัตว์ หากทำฟาร์มสัตว์ ให้เลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดห่างจากกัน และไม่ให้เด็กเข้าใกล้สัตว์ป่วย หากพบซากสัตว์ปีก ให้แจ้ง อสม.ทันที และหากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้รายงานเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดระบาดของโรค และทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธีโดยเร็วที่สุด 5.สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดของโรค ยังสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ แต่ขอให้ระมัดระวัง ไม่เข้าใกล้สัตว์ปีก และล้างมือบ่อยๆ 6.หากมีไข้ ไอ เจ็บคอหอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากอนามัย แล้วรีบไปพบแพทย์
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก รายงานยืนยันล่าสุดในเดือนมกราคม 2557 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7เอ็น 9 ทั้งหมด 205 ราย เสียชีวิต 49 ราย ส่วนไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 8 และ เอช 10 เอ็น 8 มีเฉพาะในสัตว์ปีกยังไม่มีรายงานในคน