ในช่วงเช้าวันนี้ศาลแพ่งได้รับคดีไว้พิจารณา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าการที่จำเลยออก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมย์ให้ฝ่ายบริหารนำมาปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อยุติเป็นปกติสุขโดยเร็ว แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนจะไม่มีสิทธิโต้แย้งได้ และคำฟ้องระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิในการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
ศาลนัดชี้ 2 สถาน ในวันที่ 6 ก.พ.57 เวลา 09.00 น.
อนึ่ง จำเลยที่ถูกยื่นฟ้องได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะผู้ปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีการไต่สวนฉุกเฉินในช่วงบ่ายของวันนี้ โดยมีผู้ร้องขึ้นให้ปากคำ 2 ปาก โดยนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ได้ชี้ให้ศาลเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นมีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะในอดีตที่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในปี 52-53 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ชุมนุม หรือกลุ่มผู้สนับสนุนที่กระทำต่อประชาชนจนมีผู้เสียชีวิต มีกองกำลังของผู้ชุมนุมยิงกระสุนอาวุสงครามเข้าใส่กระทรวงกลาโหม และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง
อีกทั้งการประกาศข้อกำหนดภายหลังกระทบต่อการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะมีคำสั่งห้ามชุมนุมในพื้นที่ที่มวลชนชุมนุมอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดการชุมนุมนั้นเจ้าหน้าที่เพิกเฉยที่จะบังคับใช้กฎหมายในการจับกุมผู้กระทำผิด อย่างกรณีเหตุยิงแกนนำผู้ชุมนุมที่บางนา เกิดขึ้นห้างจากเจ้าหน้าที่ตำรงจเพียง 50 เมตรแต่กลับเพิกเฉยไม่จับกุมผู้กระทำผิด และมีความพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น อ้างว่าผู้ชุมนุมสะสมอาวุธ ซึ่งไม่เป็นความจริง
ด้านนายถวิล เปลี่ยนสี แกนนำ กปปส.ในฐานะอดีตเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า การชุมนุมตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างสงบ แม้จะมีการเคลื่อนมวลชนไปปิดสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เกิดเหตุปะทะ เพราะเป็นการทำในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และทุกครั้งที่แกนนำนออกเดินรณรงค์ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมา และได้รับการบริจาคเงิน แสดงว่าคนกรุงเทพเห็นด้วย แม้จะเดือดร้อนแต่ก็ไม่มากนัก