ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่าหากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวรอบนี้เสร็จแล้ว จะต้องพักการทำนาปรังไว้ก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรังรอบต่อไป เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปอย่างเพียงพอและไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(7 ก.พ. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 12,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 6,104 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,594 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,794 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,221 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,371 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 422 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 379 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 563 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 560 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆข้างต้น เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2556/2557 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 700 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (7 ก.พ. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,641 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 69 ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนฯ อีกประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของแผนฯ ในขณะที่ฤดูแล้งยังเหลือระยะเวลาอีกกว่า 2 เดือน