(เพิ่มเติม) ศาล รธน.สั่งผู้ร้อง-ผู้ถูกร้องคดี 2 ล้านลบ.ส่งคำแถลงปิดคดีภายใน 27ก.พ.

ข่าวทั่วไป Wednesday February 12, 2014 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้อง และผู้ถูกร้องในคดีร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่งคำแถลงปิดคดีมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 27 ก.พ.57

วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพยานผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 คน ประกอบด้วย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้แทน, นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.), น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายทนง พิทยะ อดีตรมว.คลัง และนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม จากที่ก่อนหน้านี้คณะตุลาการฯ เคยไต่สวน พยานผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ไปเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยศาลได้เริ่มถามถึงอำนาจของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นอกจากตรวจเรื่องการใช้เงินเพียงอย่างเดียวหรือมีอำนาจป้องปรามการใช้เงินของรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งนายภัทรชัย ชูช่วย ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจตามที่กฎหมายระบุไว้ และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังเป็นร่าง พ.ร.บ.อยู่ แต่หากมีผลใช้บังคับแล้ว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะมีหน่วยที่ตรวจการใช้เงิน

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 50 หมวด 8 เนื่องจากเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลต้องมีกฎหมายรองรับ ต้องออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ และการกู้เงินครั้งนี้จะกลายเป็นการผลักภาระเรื่องการเก็บภาษีในอนาคต

ทั้งนี้ ศาลฯ ถามว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้มองว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรในอนาคต ซึ่งนายพิสิฐ กล่าวว่า ในด้านดีรัฐบาลอยากให้มีระบบการขนส่งมวลชนที่ทันสมัย และเกิดการพัฒนา แต่ที่ไม่เห็นด้วยระบบการทำงานที่ไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผย ขัดแย้งกับข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

จากนั้นนายทะนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ได้ขึ้นให้การ โดยศาลถามว่าเงินกู้นี้ถือเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ นายทนง กล่าวว่า การตราร่าง พ.ร.บ.นี้มีความประสงค์กำหนดให้ไม่เป็นเงินของแผ่นดิน จะทำให้เป็นการเบิกจ่ายโดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบตามระเบียบวิธีงบประมาณตามปกติ

อย่างไรก็ดี เห็นว่ากฎหมายนี้จะเป็นการสร้างวิธีพิเศษให้กับการกู้เงิน ทั้งนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนอย่างเห็นโครงการรถไฟฟ้าความสูง แต่จะคุ้มค่ากับสภาพสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาเพราะยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่าเหมาะสมกับประเทศไทย โดยส่วนตัวมองว่าแม้จะเป็นเงินนอกงบประมาณ แต่ก็ถือเป็นเงินของแผ่นดินเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบเหมือนเช่นงบประมาณปกติ

ขณะที่นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า เงินในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นเงินแผ่นดินที่สมควรส่งเงินคืนคลังก่อน มิเช่นนั้นจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหากเดินหน้าจะกระทบต่อการบริหารจัดการงบประมาณ และส่งผลเสียต่อวินัยการเงินการคลัง รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน

พร้อมแนะว่าการเบิกจ่ายงบประมาณควรผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ท้วงติงได้ อย่างไรก็ดี ไม่ขอแสดงความเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยเหมาะสมที่จะมีรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ทั้งนี้เห็นว่าหากรัฐบาลเกรงว่าการทำโครงการดังกล่าวด้วยวิธีการงบประมาณปกติจะขาดความต่อเนื่อง ก็สามารถขอแก้กฎหมายวิธีการพิจาณางบประมาณได้ ซึ่งจะได้อยู่ภายใต้กรอบงประมาณและสามารถตรวจสอบได้

ด้านน.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการทำลายกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างสิ้นเชิง ทำให้คนที่มีหน้าที่โดยตรงไม่ได้ทำหน้าที่ และรัฐสภาไม่ได้มีโอกาสตรวจโครงการ

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญครบทั้ง 5 คนแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านกระบวนพิจารณาคดี โดยมีคำสั่งให้ผู้ร้อง และผู้ที่ถูกร้องในคดีนี้มายื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 27 ก.พ.57 หากไม่ยื่นจะถือว่าไม่ติดใจ

อนึ่ง คำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ว่าการออกร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ