ก.เกษตรฯ เตรียมเสนอแผนจัดการน้ำช่วงหน้าแล้งเข้าครม.สัปดาห์หน้า ยันปริมาณน้ำไม่พอทำนาปรังรอบ 2

ข่าวทั่วไป Wednesday February 12, 2014 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. เกษตรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งนี้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และโครงการต่างๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถปลูกข้าวได้ ซึ่งบางโครงการอาจจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณที่นอกเหนือจากงบปกติแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ รวมถึงโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่ได้ผ่านการประชาคมในแต่ละจังหวัดจำนวน 45 ล้านบาทที่อยู่ในขั้นตอนเสนอสำนักงบประมาณด้วย โดยจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอผ่าน กบอ. ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า

เนื่องจากสถานการณ์น้ำในขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เหลือน้ำที่จะใช้ในแผนใช้น้ำฤดูแล้งเพียง 2 พันกว่าล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จากปริมาณน้ำใช้การที่เหลืออยู่โดยประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำส่วนนี้จะต้องใช้สนับสนุนกิจกรรมทุกอย่าง ทั้งการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ เพื่อการเกษตรอละอุตวาหกรรม ในระยะเวลาอีก 3 เดือนข้างหน้าหรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งต้องบริหารอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันชัดเจนว่าปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยานั้นไม่เพียงพอที่เกษตรกรจะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่สองได้อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่เสนอเข้าครม.ครั้งนี้ก็เพื่อให้มีการประกาศและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าหากเกษตรกรมีการปลูกข้าวนาปรังรอบสองหรือตั้งแต่ 1 ก.พ.57 ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลือหรือเข้าโครงการจากภาครัฐ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งก็ตาม

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งก็พบว่าปริมาณน้ำที่ปล่อยลงมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่เพียงพอ ทำให้ค่าความเค็มของน้ำยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึง 0.5 กรัมลิตร จึงได้ดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเพื่อไล่น้ำเค็มเพิ่มเติม ซึ่งทางกรมชลประทานจะต้องเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้กระทบต่อน้ำปะปาในพื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ