ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วพิพากษาให้คุ้มครองตามคำร้องที่ผู้ชุมนุมขอมา เช่น ห้ามจำเลยใช้กำลังสลายการชุมนุม ห้ามยึดอายัดสินค้าอุปโภค ห้ามออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ห้ามกระทำการที่เป็นการปิดกั้นการจราจรหรือการใช้เส้นทางผู้ชุมนุม ห้ามออกคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ห้ามออกคำสั่งห้ามการใช้ยานพาหนะ ห้ามออกคำสั่งห้ามบุคคลออกจากพื้นที่หรืออาคาร เป็นต้น
ศาลระบุว่าตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้อำนาจพิเศษแก่รัฐเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครอง กรณีนี้จากการนำสืบ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช่เป็นการทำให้เกิดความไม่สงบในประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะใช้เป็นข้ออ้างออกประกาศที่เป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมโดยชอบ เป็นการมุ่งบังคับใช้กับบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาคดีดังกล่าว องค์คณะผู้พิพากษา 2 ใน 5 มีความเห็นแย้งขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่เสียงข้างมากให้คงไว้
นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งที่ออกมาวันนี้ ชี้ว่าถึงแม้รัฐบาลมีสิทธิที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ สืบเนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารงานที่ไม่ชอบธรรม โดยจะเห็นว่าการใช้อำนาจในการปกครองจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าฯ เมื่อวานนั้น(18 ก.พ.) อาจจะมีผลในทางคดีต่อไปว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด ตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งตนได้แจ้งต่อศาลไปแล้วว่า กรณีนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากที่ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีการออกหมายจับจากความผิดที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เป็นหน้าที่ของทีมทนายอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ทีมทนายก็น่าจะนำไปใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้านการขอออกหมายจับได้
คดีนี้นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะรอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น
โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมกับขอศาลสั่งให้หยุดการฝ่าฝืนคำสั่งการคุ้มครองชั่วคราวในคดีดังกล่าวเป็นการด่วน หลังเจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก