"ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ให้เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และจะประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์"นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชายืนยันการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1( H5N1) เป็นรายที่ 3 ของปี 57 โดยเป็นเด็กชายวัย 4 ขวบ ซึ่งเข้ารักษารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหลังจากที่ผู้ปกครองพบว่ามีไข้สูง ล่าสุดเด็กชายคนดังกล่าวมีอาการดีขึ้นแต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดนั้น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปี และไม่พบติดเชื้อในสัตว์ปีกเป็นเวลา 6 ปี แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ หลังมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกทั้งสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ในประเทศใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง และช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประชาชนป่วยเป็นไข้หวัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหากป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ยาใช้ได้ผลดี เชื้อไม่มีปัญหาดื้อยา และองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบพร้อมผลิตยาดังกล่าวไว้อย่างเพียงพอ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในแต่ละปีประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 50,000 ราย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขวางแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยและจะมีอาการรุนแรง เสี่ยงอันตรายชีวิตสูง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งฉีดให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 250,000 คน และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกด้วย รวมทั้งหมด 3.4 ล้านโดส จะฉีดให้เร็วขึ้นก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่คือฤดูฝนเพื่อประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงโรค โดยจัดซื้อร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนเมษายน 57 และจะเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 57 เป็นต้นไป
จากการประเมินผลหลังที่ประเทศไทยมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการเสียชีวิตกลุ่มเสี่ยง ที่เริ่มตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา พบว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบที่ฉีดวัคซีน มีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้ฉีดถึงร้อยละ 60