กปน.เผยน้ำประปาอาจมีรสชาติเปลี่ยนไปหลังค่าคลอไรด์สูงแต่ยังรักษาคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday February 20, 2014 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิสุทธิ์ นพคุณทอง รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะ ประธานกรรมการศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำและคุณภาพน้ำ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กปน. รับน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาจาก 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี และ แม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี โดยน้ำจากเขื่อนแม่กลองที่ผลิตจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ส่งไปยังผู้ใช้น้ำฝั่งธนบุรี และนนทบุรีบางส่วน จะไม่ได้รับผลกระทบด้านรสชาติน้ำประปา ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำดิบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่าลิ่มความเค็มปีนี้ขึ้นสูงเหนือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เลยจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ขึ้นไป ส่งผลให้ กปน. ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับน้ำที่มีค่าความเค็ม หรือ คลอไรด์ แม้กรมชลประทานจะกำหนดให้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา มีไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก แต่เนื่องจากจุดรับน้ำดิบของ กปน. อยู่ท้ายสุด ผ่านการใช้น้ำจาก 22 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกของประเทศ แม้กรมชลประทานจะช่วยเพิ่มการผันน้ำมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ ไม่สามารถช่วยผลักดันน้ำเค็มได้มากนัก

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ในแต่ละเดือน กปน. จะต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะช่วงขึ้น 8 ค่ำ และ แรม 8 ค่ำ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง และส่งผลกระทบต่อการยกตัวของน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กปน. จะมีการปรับวิธีการบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยหยุดการสูบน้ำดิบเข้าคลองประปา ในช่วงที่ค่าคลอไรด์สูง และรอจนกว่าลิ่มความเค็มจะลดต่ำลงจึงจะทำการสูบน้ำดิบตามปกติ และยกระดับน้ำในคลองประปาให้สูงขึ้น เพื่อสำรองน้ำดิบที่มีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์นำมาผลิตน้ำประปาให้ได้มากที่สุด

แต่หากลิ่มความเค็มไม่ลดลง กปน. จำเป็นต้องผลิตน้ำประปาที่มีค่าคลอไรด์สูง เพื่อให้ประชาชน 10 ล้านคน ไม่ขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภค อย่างไรก็ตาม กปน. ยังคงรักษาคุณภาพน้ำประปา ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเว้นรสชาติ ที่บางช่วงเวลาในแต่ละวัน น้ำประปาอาจมีรสชาติเปลี่ยนไป ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำ คอแห้ง ปากแห้ง นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ฤดูแล้งปีนี้อาจยาวนานไปถึงเดือนมิถุนายน เป็นไปได้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของ กปน. แต่ผู้บริหารและพนักงานทุกคนจะช่วยกันแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ กปน. จะมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ทราบเป็นระยะๆ จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ