ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบภัยแล้ง จึงได้มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแนวทางการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เน้นการบริหารจัดการน้ำและการกระจายน้ำทั่วถึง ควบคู่กับการวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนระดับจังหวัด สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการแก้ไขปัญหา พร้อมจัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่จำกัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และประชาชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียงตลอดช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ให้เร่งสำรวจปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ เป่าล้างบ่อบาดาลเดิมและขุดบ่อบาดาลใหม่ ส่วนน้ำที่ใช้ในภาคการเกษตร ให้ประสานการจัดทำฝนหลวง เร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบโดยด่วน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง สำหรับน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ให้วางแผนเปิด-ปิดประตูน้ำและปล่อยน้ำจากเขื่อนให้สัมพันธ์กับช่วงระยะเวลาที่น้ำทะเลหนุน เพื่อมิให้น้ำประปาได้รับผลกระทบจากค่าความเค็มของน้ำทะเล
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 45,326 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 21,823 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 42,930 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61จำนวน 2,396 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำกักเก็บโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ 47.25 ของความจุฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ร้อยละ 36ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ