ก.เกษตรฯปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาภัยแล้ง-เพิ่มน้ำในเขื่อน-ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน

ข่าวทั่วไป Saturday March 1, 2014 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2557 ณ สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเริ่มปฏิบัติการตามแผนประจำปีตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป จนสิ้นฤดูฝน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นการป้องกันภัยแล้งบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าและลดความรุนแรงของลูกเห็บ และระยะที่ 2 ในช่วงฤดูฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนต้นฤดู บรรเทาฝนทิ้งช่วง และเพิ่มน้ำในเขื่อน ขณะเดียวกันในปี 2557 นี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีนโยบายที่จะทำฝนหลวงในสภาวะอากาศที่เหมาะสมเพื่อสร้างความชุ่มชื้นเพื่อลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าโดยเฉพาะพื้นที่ที่มักจะเกิดปัญหาทุกปีทั้งทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมทั้งป้องกันการเกิดภัยแล้ง เพิ่มน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง

ทั้งนี้ ในขณะบินปฏิบัติการจะทำการเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารการใช้น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค รักษาระบบนิเวศน์จนถึงฤดูฝน โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำทั้ง 5 ภาค รวม 15 หน่วย มีเครื่องบินสำหรับปฏิบัติการ 33 เครื่อง โดยเป็นเครื่องของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 21 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ 12 เครื่อง โดยแต่ละศูนย์ฯ จะตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 2-3 หน่วย ภายใต้อัตรากำลังที่มีอยู่ โดยหมุนเวียนตั้งหน่วยปฏิบัติการและฐานเติมสารฝนหลวง ตามสนามบินในจังหวัดที่รับผิดชอบ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ภัยแล้ง

สำหรับในระยะแรกจะมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ ดังนี้ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 และจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นไป ภาคกลาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 จังหวัดกาญจนบุรี ในวันที่ 1 เมษายน 2557 และจังหวัดลพบุรี ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557เป็นต้นไป ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี และบุรีรัมย์ ในวันที่ 1 เมษายน 2557 จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และอุบลราชธานี ในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป ภาคตะวันออก ที่จังหวัดระยอง และจันทบุรี ในวันที่ 1 มีนาคม 2557 และจังหวัดสระแก้ว ในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป ภาคใต้ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 3 มีนาคม 2557 อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ 15 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

ด้านนายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาตรน้ำรวมกันทั้งสิ้น 47,678 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 โดยมีปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 23,875 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุที่ระดับเก็บกัก ทั้งได้มีการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,785 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 90 เนื่องจากการเพาะปลูกข้านาปรังเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกว่า 184% จึงจำเป็นต้องปรับแผนโดยใช้น้ำในอนาคตเพิ่มเติมจาก 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 6,700 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะเดียวกัน จากภัยหนาวที่เกิดขึ้นปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 พบว่าข้าวนาปรังรอบแรกออกรวงล่าช้า จึงต้องเลื่อนการเกี่ยวออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งจังหวะที่น้ำเค็มขึ้นสูง กรมชลประทานจึงปล่อยน้ำเพิ่มเพื่อไล่น้ำเค็มและรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อรักษาพื้นที่นาปรังเหล่านี้ โดยเป็นการนำน้ำในอนาคตไปใช้ก่อนประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีพื้นที่นาปรังบางส่วนที่เริ่มเกี่ยวข้าวไปบ้างแล้ว เมื่อเห็นน้ำไหลผ่านพบว่ามีการสูบน้ำเหล่านี้เพื่อทำนาปรังรอบที่ 2 เป็นปัญหาให้ต้องปล่อยน้ำเพิ่ม จึงขอเน้นย้ำและขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะจะต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน และยังพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ของประเทศ จากการประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีถึง 13 จังหวัด นอกจากนี้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือก็มีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน รวมทั้งปัญหาน้ำเค็มที่เกิดเร็วกว่าปีที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางมาตรการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง โดยการวางแผนจัดสรรน้ำให้เหมาะสมต่อปริมาณต้นทุนในเขตชลประทาน สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มีการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วจำนวน 2 หน่วย พร้อมออกปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งทั่วประเทศตามการร้องขอมา ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ