ศาล ปค.เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตฯ,คมนาคม-รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ให้โฮปเวลล์

ข่าวทั่วไป Thursday March 13, 2014 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนและบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระหว่างกระทรวงคมนาคม ผู้ร้องที่ 1 และการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์(ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน เนื่องจากการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมาย

"ศาลเห็นว่าในกรณีนี้คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นกรณีตามนัยมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน" คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุ

โดยคำร้อง ระบุว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ทำสัญญาสัมปทานระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับในกรุงเทพมหานครและการใช้ประโยชน์จากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ผู้ร้องที่ 2) กับผู้คัดค้าน ตามสัญญาสัมปทานลงวันที่ 9 พ.ย.2533 หลังจากสัญญามีผลใช้บังคับแล้วได้มีการเร่งรัดให้ผู้คัดค้านดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องแต่การก่อสร้างล่าช้ามาก ผู้ร้องที่ 1 จึงได้เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเห็นควรบอกเลิกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากโครงการนี้ได้ใช้เวลาในการดำเนินการมาประมาณ 6 ปี แต่ผลการดำเนินงานก่อสร้างต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงานมาก และคาดหมายได้ว่าผู้คัดค้านไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานให้แล้วเสร็จได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการบอกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว

ผู้ร้องที่ 1 จึงมีหนังสือลงวันที่ 27 ม.ค.2541 แจ้งบอกเลิกสัญญาและห้ามมิให้ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการ ผู้คัดค้านได้มีหนังสือโต้แย้งการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว และต่อมาเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547

ผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำคัดค้านคำเสนอข้อพิพาท และยื่นข้อเรียกร้องแย้ง เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 ขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนทั้งสิ้น 59,581,788,026.15 บาท และขอให้อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้าน และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2550 คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาคำเสนอข้อพิพาท คำคัดค้าน และข้อเรียกร้องแย้งข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 แล้ว ให้แยกข้อเรียกร้องแย้งออกพิจารณาต่างหากจากข้อเรียกร้องเดิม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550

สำหรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 นั้น คณะอนุญาโตตุลาการได้กำหนดประเด็นพิพาท รวม 4 ประเด็น คือ 1.ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) เสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้เรียกร้องมีสิทธินำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ 2.สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้เรียกร้องยังใช้สิทธิเรียกร้องต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการได้ 3.สัญญาสัมปทานเลิกกันโดยปริยายหรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ และ 4.ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) และผู้คัดค้าน(ผู้ร้องทั้งสอง) จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่ เพียงใด ซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2(ผู้ร้องที่ 2) บอกเลิกสัญญาโดยยังไม่มีสิทธิ จึงไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่า หลังจากผู้เรียกร้องได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว ผู้เรียกร้องได้ยินยอมขนย้ายเครื่องมือและคนงานออกจากพื้นที่และไม่ได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่สัมปทานอีก

พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาเลิกสัญญากันโดยปริยาย ผู้คัดค้านทั้งสอง(ผู้ร้องทั้งสอง) จึงต้องให้ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กย.2551 ให้ผู้คัดค้านทั้งสอง(ผู้ร้องทั้งสอง) คืนเงินค่าตอบแทนที่ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2(ผู้ร้องที่ 2) จำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่รับเงินในแต่ละงวดจนกว่าจะชำระเสร็จให้ผู้คัดค้านทั้งสอง(ผู้ร้องทั้งสอง) คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) ให้ผู้คัดค้านทั้งสอง(ผู้ร้องทั้งสอง) คืนเงินค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38,749,800 บาท ให้แก่ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ผู้เรียกร้อง(ผู้คัดค้าน) ได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมแต่ละงวดให้แก่ธนาคาร จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ผู้คัดค้านทั้งสอง(ผู้ร้องทั้งสอง) ใช้เงินในการก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันชี้ขาดจนกว่าจะชำระเสร็จ

ส่วนข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 คณะอนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นพิพาท รวม 3 ประเด็น คือ 1.ผู้คัดค้านผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา 2.ผู้เรียกร้อง(ผู้ร้องทั้งสอง) บอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ ซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้เรียกร้องบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญา และ 3.ผู้เรียกร้อง(ผู้ร้องทั้งสอง) เสียหายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ผู้เรียกร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ในประเด็นนี้ คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 ให้ยกคำเสนอข้อพิพาท(ข้อเรียกร้องแย้ง) ของผู้ร้องทั้งสอง

ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และคำชี้ขาดยังขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551

ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 1379/2552 ผู้คัดค้านนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้อายุความทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้คู่สัญญาในคดีนี้อาจเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ยาวนานที่สุดมีกำหนดสิบปี แต่เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง และให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แล้ว ระยะเวลานำคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองมาฟ้องต่อศาลปกครองจะสั้นลงกว่าอายุความทางแพ่งสิบปีที่ฟ้องต่อศาลยุติธรรมตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสัญญาทางปกครองเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการจัดทำบริการสาธารณะ การกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองให้สั้นลง จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้สัญญาทางปกครองมีระยะเวลาการโต้แย้งที่ยาวนานเกินไป อันส่งผลกระทบต่อหลักความมั่นคงแน่นอนทางกฎหมาย และหลักความน่าเชื่อถือของการกระทำทางปกครอง รวมทั้งหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ ดังนั้นการนำกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาทางแพ่งมาใช้บังคับกับสัญญาทางปกครองจึงต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อหลักการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว

หลักการดังกล่าวย่อมมีผลโดยตรงกับระยะเวลาการยื่นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่ออนุญาโตตุลาการด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ มีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2542 โดยไม่มีบทเฉพาะกาล กำหนดในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีสำหรับมูลกรณีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงทำให้คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จะมีระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัตินี้ คือให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2542 ถึงวันที่ 27 ก.พ.2551 ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2551 สิทธิที่จะนำคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองมาฟ้องต่อศาลปกครองจึงได้ถูกขยายให้ยื่นฟ้องได้ภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ระยะเวลายาวนานที่สุดที่คู่กรณีอาจตกลงกันในการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงต้องใช้ระยะเวลาตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้ โดยเทียบเคียงตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 493/2551 ส่วนว่าเมื่ออนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้ว คู่พิพาทจะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อคัดค้านคำชี้ขาดหรือจะร้องขอให้มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดได้ภายในระยะเวลาเท่าใดนั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุแห่งการยื่นข้อเรียกร้องกรณีนี้เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ แต่กรณีนี้ไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการได้ เนื่องจากในกรณีนี้ ผู้คัดค้านสามารถเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยได้ตั้งแต่เวลาก่อนวันที่ 9 มี.ค.2544 จึงย่อมแตกต่างจากกรณีการนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ที่ศาลปกครองจำเป็นต้องให้ถือเอาวันที่ 9 มี.ค.2544 เป็นวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เนื่องจากคู่กรณีไม่อาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ก่อนวันที่ 9 มี.ค.2544 เพราะศาลยังไม่เปิดทำการ และเมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนดห้าปี ตามมาตรา 51 ที่แก้ไขเพิ่มเติม คือ ในวันที่ 30 ม.ค.2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2547 และผู้ร้องทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2548 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ