"อยากจะเสนอแนวทางการกำจัดขยะด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกด้วย" นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ กกพ.กล่าว
นายกวิน กล่าวว่า หากจะมองว่าขยะเป็นตัวปัญหาก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะที่จริงแล้วขยะถือว่าเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพสูง จึงอยากจะเสนอแนวทางการกำจัดขยะด้วยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า
ที่ผ่านมา กกพ.ได้ส่งเสริมและกำกับการรับซื้อไฟฟ้าจากจากพลังงานขยะให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(Alternative Energy Development Plan:AEDP) ที่ 400 เมกะวัตต์ โดยในปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้วจำนวน 18 โรง กำลังการผลิตรวม 43 เมกะวัตต์ ลงนามในสัญญาแล้วจำนวน 16 โรง กำลังการผลิตรวม 109 เมกะวัตต์ ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้วจำนวน 3 โรง กำลังการผลิตรวม 29 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพิจารณา 5 โรง กำลังการผลิตรวม 110 เมกะวัตต์ รวมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว และที่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดจำนวน 42 โรง กำลังการผลิตรวม 291 เมกะวัตต์ และจากปริมาณขยะของกรมควบคุมมลพิษที่ระบุว่างประเทศไทยที่มีขยะมากถึงกว่า 26 ล้านตันต่อปี ก็เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ จำนวน 400 เมกะวัตต์ ซึ่งสอดรับกับความต้องการแสวงหาพลังงานใหม่ๆมาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีปริมาณลดน้อยลง และต้องนำเข้ามาในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
"ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอาจจะยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐเอง และจากภาคประชาสังคมที่ยังไม่เข้าใจ และคิดว่าการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจะส่งผลกระทบด้านสุขภาวะต่อชุมชน แต่จากเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่สมุทรปราการ ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ การนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ถือว่าเป็นทางเลือกที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ในการฝังกลบแล้ว เรายังได้เชื้อเพลิงที่มีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้า ส่วนที่ชุมชนมีความกังวลในเรื่องของมลภาวะที่จะเกิดขึ้นนั้น ก็ขอยืนยันว่าในปัจจุบันมีระบบการจัดการ และเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ " นายกวิน กล่าว