ทนายความเล็งอุทธรณ์คดีอัลรูไวลี่,อุปทูตซาอุฯ สงสัยเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา

ข่าวทั่วไป Monday March 31, 2014 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทนายความคดีนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย หายตัวไปเมื่อเดือน ก.พ.33 เผยเตรียมยื่นอุทธรณ์หลังศาลอาญาพิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลลูไวรี่ มารดาของนายมูฮัมหมัด อัลลูไวรี่ ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตนและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

"เป็นธรรมดาเมื่อแพ้คดีก็คงไม่เห็นด้วย จะรวบรวมพยานหลักฐานทำคำร้องส่งให้ทางสถานทูต(ซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทย) ตรวจสอบอีกครั้งแล้วยื่นอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน" นายเอนก คำชุ่ม ทนายความฯ กล่าว

ทนายความฯ กล่าวว่า อุปทูตฯ และครอบครัวอัลรูไวลี่ผิดหวังต่อคดีนี้ และรู้สึกไม่สบายใจกรณีที่มีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาก่อนที่จะมีคำตัดสิน ซึ่งคงจะไปห้ามไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษากระทันหันเกินไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงไม่รอให้คดีเสร็จสิ้นไปก่อน

"จะไม่ให้เค้าสงสัยคงไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนตัวกระทันหันเกินไป" นายเอนก กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเอนก กล่าวว่า ในสำนวนคดีนั้นระบุเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาว่าเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้ชี้แจงในรายละเอียดว่ามีสาเหตุเรื่องใด

ด้านนายอับดุลอิลาห์ อัลชุ อัยบี อุปทูตซาอุดิอาระเบียฯ กล่าวว่า หลังได้รับข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาก็ไม่สบายใจว่าผลของคดีจะไม่เป็นผลดีต่อทางซาอุฯ ซึ่งตนเองจะรายงานให้รัฐบาลซาอุฯ ได้รับทราบ แต่จะมีมาตรการอย่างไรนั้นจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

"ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ถ้ามีอะไรคงไม่แตกต่าง แน่นอนรัฐบาลไม่พอใจผลของคดี" นายอับดุลอิลาห์ อัลชุ อัยบี ตอบคำถามถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

คดีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย ที่เข้ามาเปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง และหลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบียเมื่อปี 2533 นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ ได้หายตัวไป ซึ่งจากการสืบสวนขณะนั้นพบว่า พล.ต.ท.สมคิด กับพวก ได้นำตัวนายนายมูฮัมหมัด อัลลูไวลี่ ไปสอบเค้นข้อมูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักการฑูตซาอุฯ หรือไม่ กระทั่งปี 52 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้รื้อคดีขึ้นมาใหม่ โดยนำแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นแหวนประจำตระกูลของนายมูฮัมหมัด อัลลูไวลี่ ที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หนึ่งในทีมสืบสวนของ พล.ต.ท.สมคิด เก็บรักษาไว้มามอบให้พนักงานสอบสวน และนำคดียื่นฟ้องต่อศาลก่อนจะหมดอายุความเพียงเดือนเดียว

ด้านนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงถึงการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าวว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของกำหมายทุกประการ จึงไม่น่ามีข้อสงสัยหรือพิรุธ เพราะก่อนหน้านี้คดีดังกล่าวมีการเปลี่ยนผู้พิพาษาเจ้าของสำนวน และองค์คณะผู้พิพากษามาแล้ว 2 ชุด ซึ่งเป็นการโยกย้ายตามปกติ จนถึงชุดที่ 3 ซึ่งเข้ามาพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 1 เม.ย.54 โดยมีนายสมศักดิ์ ผลส่ง เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และนายภชฤทธิ์ นิลสนิท เป็นองค์คณะผู้พิพากษา แต่ระหว่างการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น และรอเขียนคำพิพากษา คณะกรรมการตุลาการมีคำสั่งพักราชการนายสมศักดิ์ เนื่องจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในการทำหน้าที่ครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าศาลจังหวัดสระบุรี เพราะสั่งปล่อยตัวไม่เป็นไปตามระเบียบ จึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.57 ดังนั้นจึงมีการมอบหมายให้นายภชฤทธิ์เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแทน และให้นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสัน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ตรวจคำพิพากษาและลงรายมือชื่อ

"กรณีดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายทุกประการ จึงไม่น่าจะมีข้อพิรุธหรือสงสัยใดๆ ว่ากระบวนการผลิดพลาดและช่วยเหลือจำเลย" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าว

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเข้าใจดีเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่การดำเนินคดีต้องพิจารณาตามกฎหมายไทย อีกทั้งรายงานกระบวนพิจารณาได้มีการระบุรายละเอียดในส่วนนี้อยู่แล้ว และไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่ต้องแจ้งให้คู่ความทราบ

"หวังว่าอุปทูตซาอุฯ จะเข้าใจกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และเหตุผลการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาในคดีนี้" อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ