ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตรวจสอบสถานการณ์น้ำ จัดโซนนิ่งพื้นที่ประสบภัยแล้ง และวางมาตรการช่วยเหลือให้สอดคล้อง เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด น้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอต่อการใช้งาน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรให้สำรวจพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ จัดโซนนิ่งพื้นที่การเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน จัดเจ้าหน้าที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เกษตรกรจะได้วางแผนเพาะปลูกพืชได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตดีและมีตลาดรองรับ รวมถึงจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำและผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 40,472 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 16,969 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 36 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 38,940 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 จำนวน 1,532 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 10,589 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 3,893 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 24.75 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ โดยปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ