ทั้งนี้ ชาวแพรกษาได้ขอให้ศาลมีคำสั่งรวม 9 ข้อ คือ 1.ให้นายก อบต.แพรกษา จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษด้านขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมเสนอให้ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ รวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในระดับจังหวัดสมุทรปราการ โดยให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้แนะนำและช่วยเหลือดำเนินการ และให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ประกอบกิจการรับบริการขนขยะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2.ให้สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการในฐานะผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 มิให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ โดยเฉพาะขยะมลพิษออกจากบ่อขยะ และในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
3.ให้อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งห้ามผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนำขยะอุตสาหกรรมมาทิ้งในบ่อขยะตามฟ้องอีก โดยปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกุลหรือวัสดุที่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรับทิ้งขยะอุตสาหกรรมที่ทิ้งกองขยะตามคดีนี้ในฐานะผู้ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาตโรงงานประเภท 105 ตาม พ.ร.บ.โรงงาน
4.ให้ผู้ว่าฯ สมทรปราการ กำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจังหวัดสมุทรปราการให้ครอบคลุมพื้นที่เขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามสมควรให้ดำเนินการจัดการทำแผนปฏิบัติขึ้นมาเอง
5.ให้กรมควบคุมมลพิษสำรวจตรวจสอบวิเคราะห์ความปนเปื้อนสารพิษต่างๆ บริเวณพื้นที่ 153 ไร่ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานของดิน ให้ดำเนินการฟื้นฟูชะล้างความปนเปื้อนของดินและน้ำใต้ดินจนได้คุณภาพมาตรฐาน และดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเพื่อชดใช้ความเสียหายในส่วนแพ่งต่อไป
6.ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมควบคุมดูแลผู้ประกอบการโรงงานในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการให้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ใช้แล้ว พ.ศ.2548 และจัดให้มีแหล่งรองรับการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายให้เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรม และไม่เป็นอันตรายให้เพียงพอต่อปริมาณขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดในเขตควบคุมมลพิษ
7.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติดำเนินการให้มีแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดและลดมลพิษในส่วนของขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นพิษและไม่เป็นพิษ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการและงบประมาณแผ่นดินที่จะใช้ดำเนินการตามแผนดังกล่าว
8.ให้นายกฯ อบต.แพรกษา, ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันดำเนินการให้มีวิธีการดับไฟกองขยะในบริเวณพื้นที่ 153 ไร่ โดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
และ 9.ให้นายกฯ อบต.แพรกษา, ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันดำเนินการให้มีวิธีการดับไฟกองขยะดังกล่าวด้วยวิธีการที่ถูกต้อง