ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 76.35 รถปิคอัพ ร้อยละ 14.81 พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 23.20 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.99 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.77 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.08 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 34.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.61
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,276 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,571 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 685,803 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 114,018 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,674 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,408 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 35 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน (วันที่ 11 – 13 เมษายน 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,539 ครั้ง (ปี 2556 เกิด 1,446 ครั้ง) เพิ่มขึ้น 93 ครั้ง ร้อยละ 6.43 ผู้เสียชีวิตรวม 161 ราย (ปี 2556 เสียชีวิต 174 ราย) ลดลง 13 ราย ร้อยละ 7.47 ผู้บาดเจ็บรวม 1,640 คน (ปี 2556 บาดเจ็บ 1,526 คน ) เพิ่มขึ้น 114 คน ร้อยละ 7.47 จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 3 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วัน (ตายเป็นศูนย์) รวม 13 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท นครนายก เพชรบุรี ลพบุรี และอ่างทอง ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส พังงา และยะลา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 64 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 10 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 69 คน
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น จึงขอให้จังหวัดวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการพิเศษเฉพาะให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ รวมถึงรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน และผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสร้างเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 14 – 15 เมษายน 2557 ประชาชนส่วนใหญ่มักเล่นน้ำสงกรานต์และท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ จึงขอให้จังหวัดปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกิจกรรมการเล่นน้ำของประชาชนในพื้นที่ เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น คุมเข้มเส้นทางภายในจังหวัด ถนนสายรอง เส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ พื้นที่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมการเล่นน้ำอย่างสุภาพและปลอดภัยตามขนบธรรมเนียมประเพณี โดยจัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปลอดภัยจากอุบัติภัยทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสวัสดิภาพและเล่นน้ำด้วยความปลอดภัย
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนนสามารถโทรศัพท์ประสานขอความช่วยเหลือได้ทางหมายเลขสายด่วน 1669 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ในทันที และสามารถส่งต่อผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลทุกแห่งทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอย่างรวดเร็ว