ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ โดยแจ้งให้เจ้าของป้ายโฆษณาทำการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้าย รวมทั้งสภาพโครงสร้างของตัวป้ายโฆษณาโดยผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมเป็นประจำทุกปี และให้จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบให้กรุงเทพมหานครเพื่อออกใบรับรองการตรวจสภาพอาคาร (ร.1) ในกรณีที่กรุงเทพมหานครได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าป้ายโฆษณาใดมีสภาพไม่ปลอดภัย จะแจ้งให้เจ้าของป้ายโฆษณาทำการแก้ไข หากแก้ไขไม่ได้ก็ให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาหรือปลดแผ่นป้ายโฆษณาออก หากไม่ดำเนินการกรุงเทพมหานครจะเข้าดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาหรือปลดแผ่นป้ายโฆษณา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากป้ายโฆษณาล้ม ในกรณีที่ป้ายโฆษณาก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมายไม่สามารถขออนุญาตให้ถูกต้องได้ จะเร่งรัดให้เจ้าของป้ายโฆษณาทำการรื้อถอนป้าย หากเจ้าของป้ายโฆษณาไม่ทำการรื้อถอนกรุงเทพมหานครจะเข้าทำการรื้อถอนออก
"กรุงเทพมหานครจะดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และดำเนินการเร่งรัดการรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดจากป้ายโฆษณาล้ม และให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่อาศัยหรือเข้าใกล้ป้ายโฆษณาในระหว่างที่ฝนตกและลมกระโชกแรง นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมเครื่องมือกลหนักและเบารวมทั้งเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเข้าทำการรื้อถอนป้ายป้ายโฆษณาหากเกิดอุบัติภัยป้ายโฆษณาล้มลง"น.ส.ตรีดาว กล่าว
ในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั้งหมด 952 ป้าย ป้ายถูกกฎหมาย 739 ป้าย และป้ายผิดกฎหมาย 183 ป้าย ซึ่งป้ายผิดกฎหมายอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนบังคับรื้อถอน 73 ป้าย ออกคำสั่งตามขั้นตอนของกฎหมาย 105 ป้าย อยู่ระหว่างยุติคดีปกครอง 2 ป้าย และอยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์ 3 ป้าย โดยเขตราชเทวีมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มากที่สุด จำนวน 85 ป้าย เขตคลองสามวามีป้ายโฆษณาน้อยที่สุด จำนวน 1 ป้าย และเขตลาดกระบังมีป้ายที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตมากที่สุด จำนวน 26 ป้าย