ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะยกร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 20 ก.ค.57 โดย กกต.จะปรึกษาหารือก่อนจะเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ในวันที่ 6 พ.ค. และหลังจากนั้นจะนำเสนอน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
"จากการปรึกษากับฝ่ายความมั่นคง และจากพรรคการเมืองทั้ง 58 พรรค พิจารณาแล้วว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป วันเวลาที่เหมาะสมคือวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งหลังจากนี้ กกต.จะไปยกร่างพระราชกฤษฎีกา ก่อนไปเรียนนายกรัฐมนตรีและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป" เลขาธิการ กกต.กล่าว
พร้อมระบุว่า ในที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าสถานการณ์ทางการเมืองก่อนจะถึงวันเลือกตั้งน่าจะดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้รับปากจะดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อยมากที่สุด พร้อมยอมรับว่าหากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นระหว่างการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลก็พร้อมจะออกพ.ร.ฏ.ฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิม
นอกจากนี้รัฐบาลได้รับทราบปัญหาต่างๆ จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาตามการรายงานของ กกต. รวมทั้งรับทราบข้อเสนอของ กกต.5 ข้อ โดยรัฐบาลยืนยันว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือเต็มที่ทุกแนวทาง ซึ่งถือว่าบรรยากาศการประชุมระหว่างกกต.และรัฐบาลในวันนี้เป็นไปด้วยดี
สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อ ของ กกต.ที่มีต่อรัฐบาล ประกอบด้วย 1.รัฐบาลจะต้องรับประกันในด้านบรรยากาศการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม 2.ฝ่ายความมั่นคงจะต้องมีส่วนสนับสนุนให้การจัดการเลือกตั้งสำเร็จ และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 3.รัฐบาลต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลรักษาการเพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง 4.ในกรณีที่หากการเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต.มีความเห็นว่าการดำเนินการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรมหรือไม่สงบเรียบร้อย กกต.จะขอใช้สิทธิในการเลื่อนวันลงคะแนนในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจเป็นรายหน่วย รายเขต รายจังหวัด หรือ แม้กระทั่งเป็นรายภาค หรือทั้งประเทศ และ 5.รัฐบาลยอมรับสภาพที่การเลือกตั้งอาจจะหย่อนบัตรสำเร็จ แต่อาจจะไม่สามารถเปิดสภาได้ใน 30 วัน
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมีข้อสรุปออกมาในวันนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายบริหารกิจการเลือกตั้ง ได้นำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามีผู้ขัดขวางการรับสมัคร, การขัดขวางการทำหน้าที่ของ กกต., การจัดพิมพ์และการกระจายบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งการจัดหากรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหานั้น กกต.ได้ชี้แจงว่ามีการปรับปรุงแก้ไขใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.ระเบียบและประกาศของกกต. 2.แผนการจัดการการเลือกตั้ง ซึ่งเบื้องต้น กกต.ได้เตรียมแนวทางไว้ เช่น ในกรณีผู้สมัครไม่สามารถเข้าไปรับสมัครในพื้นที่ที่จัดไว้ได้ ก็เตรียมจะยกร่างระเบียบ กกต.ให้มีการสมัครผ่านทางไปรษณีย์ หรือการจัดสถานที่ที่เหมาะสมกับการเลือกตั้งมากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือกับ กกต. รวมทั้งกองทัพ และกระทรวงมหาดไทยจะเตรียมพร้อมในส่วนของกำลังพล เพื่อเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกกับ กกต.อย่างเต็มที่
ส่วนกรณีที่หากเกิดปัญหาขึ้นกับสถานภาพของรัฐบาลในระหว่างที่ยังมีการยกร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกันถึงประเด็นนี้ แต่กกต.จะนำกลับไปหารือเพื่อเตรียมการรองรับหากเกิดป้ญหาในกรณีนี้ขึ้น
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับฝ่ายความมั่นคง โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ยืนยันจะดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะใช้กำลังทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันดูแล และเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเชื่อว่าการขัดขวางการเลือกตั้งจะลดน้อยลง เนื่องจากแกนนำ กปปส.บางส่วนถูกดำเนินคดีขัดขวางการเลือกตั้ง และยืนยันจะทำให้การเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม
ด้านพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. ยืนยันจะดูแลความเรียบร้อยในวันเลือกตั้งอย่างเต็มที่ สนธิกำลังทหารและตำรวจ ภายใต้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยตนเองจะกลับไปทำแผนดูแลการเลือกตั้ง ขณะที่นายกฯกำชับให้นำบทเรียนการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นบทเรียนดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่ประกาศขัดขวางการเลือกตั้ง เชื่อว่าทำความเข้าใจกันได้