สำหรับแนวทาง คือ ต้องเริ่มจากรัฐบาลชะลอการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเลือกตั้ง และกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แผนนี้ประสบความสำเร็จ ขณะที่เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปต้องร่วมกับ กปปส.ใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน จัดทำข้อเสนอสภาปฏิรูป ซึ่งต้องกำหนดประเด็นดำเนินการปฏิรูปให้ชัดเจน และกำหนดว่าต้องเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด รวมถึงกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย และหากจัดทำแนวทางปฏิรูปเสร็จสิ้นแล้ว จะนำข้อเสนอนี้ไปทำประชามติภายใน 90 วัน
ขณะที่พรรคการเมืองต้องมาร่วมรณรงค์การปฏิรูป เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดการเลือกตั้งที่เรียบร้อย จากนั้นจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มาจัดทำแนวทางปฏิรูปและการเลือกตั้ง โดยนายกรัฐมนตรีต้องนำคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือนายกรัฐมนตรีลาออก และปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางไปสู่การมีรัฐบาลคนกลาง ที่ประธานวุฒิสภาสรรหานายกรัฐมนตรีคนกลาง เมื่อมีรัฐบาลเฉพาะกาลแล้ว จะมีอำนาจจำกัด คือไม่สามารถตรากฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีองค์กรนิติบัญญัติ เนื่องจากต้องรอการเลือกตั้ง จากนั้นจึงจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 - 60 วัน โดยที่พรรคการเมืองต้องยืนยันสนับสนุนการปฏิรูป มิเช่นนั้นจะถูกยุบพรรค
ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายยอมรับข้อเสนอ การปฏิรูปจะเริ่มทันทีและเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปีครึ่ง และภายใน 150 - 180 วัน จะเกิดการเลือกตั้งที่เสรี ชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนออาจไม่ถูกใจทุกฝ่ายเต็มร้อย แต่ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ยอมรับข้อเสนอของตนเอง เพราะเป็นคนที่มีอำนาจตัดสินใจ และเรียกร้องไปยังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ว่า หากรัฐบาลตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ก็ขอให้ กปปส.ตอบรับข้อเสนอด้วยเช่นกัน เพื่อเดินหน้าประเทศไทย พร้อมย้ำว่า หากทุกฝ่ายรับข้อเสนอ ตนเองจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง