ทั้งนี้ หลังเกิดแผ่นดินไหว ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมากว่า 100 ครั้ง โดยในวันที่ 7 พ.ค. วสท. จะส่งตัวแทนลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ โครงสร้างอาคาร และให้คำแนะนำกับประชาชน
ทาง วสท.เตือนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนเฝ้าระวัง 72 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นฉาบปูนบริเวณเสาและอาคารที่เสียหาย ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบริเวณไหล่เขา เฝ้าระวังเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในรัศมี 200 กิโลเมตร เฝ้าระวังดินถล่ม ในรัศมีจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 50 กิโลเมตร เนื่องจากวันที่ 5-7 พ.ค.มีฝนฟ้าคะนองในพื้นที่ภาคเหนือ และ เฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อคตามแนวรอยเลื่อนพะเยา ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา และ ลำปาง
ส่วนอาคารภายในกรุงเทพมหานครที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนนั้นอาคารต่างๆที่จดทะเบียนก่อสร้างที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวหลังปี 2550 สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 7 ริกเตอร์ จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่เป็นห่วงอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 หรือมีความสูง 7- 10 ชั้นต้องตรวจสอบว่าโครงสร้างเสียหายหรือไม่ซึ่งทาง วสท. จะดำเนินการตรวจสอบพร้อมให้ก่อสร้างส่วนค้ำยันอาคารเพิ่มเติม
ด้านนายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เนื่องจากตัวเขื่อนอยู่ไกลจากศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว ขณะที่เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและอุปกรณ์ของสถานีส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ จ.เชียงรายยังคงใช้งานได้ตามปกติ
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเขื่อนทุกเขื่อน ของ กฟผ. มีประสิทธิภาพ ทัดเทียมมาตรฐานสากล อีกทั้งมีการดำเนินการตรวจสอบ บำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัยของเขื่อนอย่างมีระบบและต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าเขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งาน