กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 34 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก สุโขทัย และพิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และ บึงกาฬ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 2 สุพรรณบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 14 อุดรธานี เขต 15 เชียงราย เขต 17 จันทบุรี เขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 10 – 15 มิถุนายน 2557 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำที่ลาดเชิงเขา จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ส่วนคลื่นลมในทะเลบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูง ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ อีกทั้งควรงดการท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมทางทะเล เนื่องจากในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ทะเลจะมีคลื่นสูงและกำลังแรง ก่อให้เกิดอันตรายได้
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และคลื่นลมแรงสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป