"พร้อมให้ความร่วมมือไม่สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว ตามที่คณะกรรมการมรดกโลกมีข้อเสนอให้ไทยยุติโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่มรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ แต่ยังให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาข้อมูลผลกระทบทางสังคม และเศรษฐกิจต่อไป เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ร้องขอให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง และเผชิญอุทกภัยในช่วงหน้าฝน ซึ่งอาจจะสร้างฝาย หรือประตูน้ำขนาดเล็กตามลำน้ำสะโตนแทน"รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
รองอธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า จากผลการศึกษาคาดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านเกณฑ์ และน่าจะไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนได้ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำห้วยสะโตนรูปแบบอื่นแทน ทั้งการก่อสร้างแก้มลิง และฝายทดน้ำขนาดเล็ก
นอกจากนี้ กรมชลประทานเตรียมวางแผนที่จะสร้างแก้มลิงที่พื้นที่ด้านบน และทำคลองผันน้ำเลี่ยงเมือง เพื่อแบ่งเบาน้ำไม่ให้เข้าท่วมตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นอีกจุดสำคัญที่ถือเป็นประตูสำคัญสู่อินโดจีน แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียด
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน ปี 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นชอบตามที่กองกำลังบูรพาสนอให้ดำเนินโครงการ จนกระทั่งสำนักคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกองกำลังบูรพา มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินโครงการ เริ่มตั้งแต่ จัดทำรายงานวางโครงการ ทำการศึกษาจัดทำรายงานผนกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ทำเรื่องถึงกรมป่าไม้เพื่อขอใช้พื้นที่ป่าประมาณ 5,188 ไร่ ทำการออกแบบรายละเอียดในการก่อสร้างแล้วเสร็จ จนกระทั่งปี 2548 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยาบางส่วน เพื่อเตรียมก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน แต่ในที่สุดภายในปีเดียวกัน มีการประกาศให้อุทยานแห่งชาติตาพระยาเป็นมรดกโลก ทำให้กรมชลประทานต้องระงับโครงไป เพราะไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างได้
หลังจากนั้นผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรใน 4 ตำบล ในอ.ตาพระยา ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากขาดแหล่งน้ำในพื้นที่ และเสนอใหเกรมชลประทาน พิจารณาทบทวนการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนอีกครั้ง เพราะประชาชนที่นี่รอคอยอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนมาหลายสิบปี เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
ความสำคัญของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีความจุในระดับกักเก็บ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนเป็นดินถมบดอัดแน่น ประเภท Zone Type ยาว 1,780 เมตร สูง 17.60 เมตร ระดับการกักเก็บ +125.00 เมตร (รทก.) พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 4,063 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 12,800-14,000 ไร่ ในเขต ต.ทัพราช และ ต.ทัพไทย หากสร้างเสร็จ นอกจากจะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และปัญาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งขยายพื้นที่การเกษตรได้แล้ว กรมชลประทานยังมีแผนจะผันน้ำในช่วงฤดูฝนมาเติมที่อ่างเก็บน้ำห้วยยาง เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่เคยเต็มความจุของอ่างฯซึ่งอยู่ที่ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตรกรรมได้เพียงประมาณ 40,000 ไร่ ดังนั้นหากมีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน มาเติมก็จะทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยยางใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ ขยายพื้นที่เกษตรกรรมได้มากขึ้นอีกด้วย
ด้านตัวแทนผู้นำชุมชนรายหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านอ.ตาพระยา รอคอยอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนมานานมาก ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นตัวเอง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านที่นี้ซึ่งเกือบทั้งหมดทำอาชีพเกษตรกรรม พืชหลักคือ ข้าวและมันสำปะหลัง ในส่วนของข้าวทำได้แต่ข้าวนาปี ไม่สามารถทำนาปรังได้เพราะน้ำไม่มี การทำนาปีจึงต้องทำปีละ 3 ครั้ง ผลผลิตที่ได้ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตัวอย่างเกษตรกรที่มีนาข้าวมากที่สุดคือ 60 ไร่ ทำนาได้ผลผลิตสูงสุดคือ 200-300 กก. ขายได้ราคากก.ละ 12 บาท ส่วนมันสำปะหลังปลูกได้บ้าง ตายบ้างเพราะขาดแคลนน้ำ แต่ปลูกอย่างอื่นก็ไม่ได้เพราะเป็นดินทราย
"อ.ตาพระยา แล้งมากกว่าฝน ปีนึงมี 12 เดือนมีฝนตกแค่ 2-3 เดือน นอกนั้นแล้งเป็นส่วนใหญ่ และเวลาฝนตกก็ต้องภาวนาอย่าท่วมเพราะข้าวจะเสียหาย ที่เก็บกักน้ำ ที่ระบายน้ำก็ไม่มี นี่คือความเดือดร้อนของชางบ้านที่นี่ และทำให้เราต้องการอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตนอย่างมาก...ความฝันใกล้เป็นจริงอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เหมือนเราถูกขโมยอ่างเก็บน้ำ...ฝันสลายแล้ว"ผู้นำชุมชน กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ปัจจุบัน จ.สระแก้ว มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งที่อ.วัฒนานคร คือ อ่างเก็บน้ำพระปรง มีขนาดใหญ่ที่สุด กักเก็บน้ำได้ 97 ล้านลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำห้วงยาง กักเก็บน้ำได้ 60 ล้านลบ.ม. โดยในปีหน้าจะสร้างเสร็จอีก 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง กักเก็บน้ำได้ 65 ล้านลบ.ม.