นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 เพื่อช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตของตนเอง โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าว และเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัย พร้อมตั้งเป้าหมายพื้นที่นาข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่
สำหรับเงื่อนไขการดำเนินโครงการครั้งนี้กำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยตามลำดับความเสี่ยงของพื้นที่ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับคือ พื้นที่เสี่ยงต่ำที่สุด พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก พื้นที่เสี่ยงต่ำ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง และพื้นที่เสี่ยงสูง โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อยู่ที่ 129.47 บาท/ไร่, 247.17 บาท/ไร่, 376.64 บาท/ไร่, 472.94 บาท/ไร่ และ 510.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยเกษตรกรจะจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราเพียง 60 บาท/ไร่, 70 บาท/ไร่, 80 บาท/ไร่, 90 บาท/ไร่ และ 100 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือรัฐจะเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกรในอัตรา 69.47 บาท/ไร่, 177.17 บาท/ไร่, 296.64 บาท/ไร่, 382.94 บาท/ไร่ และ 410.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ
นอกจากนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ ธ.ก.ส.จะร่วมอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าอีกไร่ละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 50-90 บาท/ไร่ ซึ่งการประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บและไฟไหม้ โดยได้รับชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ ยกเว้นศัตรูพืชและโรคระบาด ได้รับการชดเชย 555 บาทต่อไร่
สำหรับการทำประกันภัยนาข้าวถือเป็นการจัดการความเสี่ยงในด้านการผลิตแก่เกษตรกร เพราะในกรณีที่ประสบความเสียหาย เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในเบื้องต้น 1,113 บาทต่อไร่ เมื่อรวมกับประกันภัยที่เกษตรกรซื้อไว้อีก 1,111 บาทต่อไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรได้รับเงินชดเชยไร่ละ 2,224 บาท ช่วยให้เกษตรกรมีต้นทุนที่สามารถเริ่มต้นการเพาะปลูกในรอบถัดไปได้ อันเป็นการบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและซื้อประกันภัยดังกล่าวได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2557 ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ
"โครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการรักษาความยั่งยืนทางการคลัง แม้ภาครัฐจะยังคงให้ความช่วยเหลือบางส่วนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย แต่สำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ภาครัฐได้เปลี่ยนแบบเป็นการช่วยเหลือผ่านเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระงบประมาณแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้รู้จักการรบริหารความเสี่ยงภัยด้วยตนอง ตลอดจนส่งเสริมกลไกตลาดประกันภัยภาคการเกษตรของภาคเอกชน" นายลักษณ์ กล่าว