เพื่อให้การดำเนินการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในส่วนของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัดเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงสมควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 103/12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 103/12 ในการแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งมีจำนวนห้าคน ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด ประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้
(1) รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย
(2) อัยการจังหวัด
(3) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
(4) ผู้อำนวยการสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด
(5) รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร)
ในกรณีที่มีกรรมการสรรหาตามวรรคหนึ่งไม่ครบจำนวน ให้ดำเนินการไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
ให้รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการสรรหา ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา"
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 103/18 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 103/18 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดดังนี้
(1) ส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต โดยดำเนินการเพื่อการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งดำเนินการให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(2) พิจารณาเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(3) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมาย
กรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานการรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดหรือผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด มีอำนาจลงนามในหนังสือเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ได้"
ข้อ 3 การสรรหา คัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นอันใช้ได้ ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชะลอไว้ก่อนจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ