โครงการทางพิเศษสายนี้ มีความเป็นมาตั้งแต่ปี 2530 รัฐบาลได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนด เขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืน พ.ศ.2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ แต่ในระหว่างอายุ พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว กทพ. ไม่สามารถดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จได้ เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้ขอต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฯ ต่อจากพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2530 เรื่อยมาอีกรวม 6 ครั้ง คือ พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2534 พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2538 พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2542 พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2546 และพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2550 สำหรับพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับปี พ.ศ.2554 นี้นับเป็นฉบับที่ 7 โดยแนวเขตทางพิเศษตามพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้ง 7 ฉบับ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตพระราชกฤษฎีกาและวังสระปทุมไม่ถูกเวนคืนแต่อย่างใด
พร้อมกันนี้ กทพ. ได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานข้อเท็จจริงกรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้าง C/D Road ว่าเป็นการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาฯ ที่หมดอายุลงทุก ๆ 4 ปี ซึ่งครั้งนี้นับเป็นฉบับที่ 7 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตพระราชกฤษฎีกาฯ ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวถึงเหตุผล ในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไป ทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา และในกรณีที่ดินของวังสระปทุม กทพ. ได้ตรวจสอบแนวเขตทางพิเศษตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ แล้วปรากฏว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นที่ตั้งของวังสระปทุมอยู่ในแนวเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่เขตราชเทวี และเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554 แต่ไม่ถูกเขตทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ตัดผ่านแต่อย่างใด โดยแนวเขตทางพิเศษบริเวณดังกล่าว อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวังสระปทุม อย่างไรก็ตาม กทพ. กำลังจะพิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการนี้โดยเร็วต่อไป