"ผู้ประกันตนจะได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในการใช้สิทธิ แต่ยังไม่ได้มีการลงมติให้ความเห็นชอบ เนื่องจากคณะกรรมการการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นเท่าใด" นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ปฏิบัติหนัที่ รมว.แรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.)
ทั้งนี้ บอร์ดการแพทย์ สปส.ได้เสนอให้ปรับปรุงระเบียบการได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 จากปัจจุบันจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนก่อน จึงจะสามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาล เป็นผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุน 1 เดือน ก็สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้
ปลัดแรงงาน กล่าวว่า ได้ให้บอร์ดการแพทย์ สปส.ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องงบประมาณและนำมาเสนอครั้งต่อไป และ สปส.จะเร่งเดินหน้าปรับปรุงกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้ง 7 กรณี คือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน ชราภาพและเสียชีวิต ให้มีความทันสมัยและก้าวหน้ายิ่งขึ้น
"ที่ผ่านมา สปส.มีความระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ทำให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลบางเรื่องที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและฟอกไตก็ไม่ได้ดำเนินการ ถึงวันนี้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงพอสมควร โดยเงินสะสมกว่า 1 ล้านล้านบาทก็ควรที่จะเดินหน้าพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นกว่าในอดีตเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งในเรื่องของการพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและฟอกไตก็ได้ดำเนินการไปแล้ว"นายจีรศักดิ์ กล่าว