ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพฝนตั้งแต่ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา พบว่าปริมาณฝนที่ตกลงมายังอยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งในพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนและพื้นที่ท้ายเขื่อน อีกทั้งได้รับรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคเหนือ มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 31.8 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของค่าปกติ และในพื้นที่ภาคกลาง มีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 74.4 มิลลิเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของค่าปกติ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆในเกณฑ์น้อย ทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อน เพิ่มมากขึ้นกว่าแผนงานที่วางไว้ เพื่อเสริมน้ำฝนที่ตกน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด(9 ก.ค.57) เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การเพียง 257 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ต้องสำรองไว้สำหรับความมั่นคงของพลังงาน 100 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เหลือน้ำใช้การได้เพียง 157 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 327 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องสำรองน้ำไว้ใช้สำหรับความมั่นคงของพลังงาน 15 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือน้ำใช้การได้เพียง 312 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมทั้งสองเขื่อนจะมีน้ำใช้การได้เพียง 469 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำใช้การได้ 77 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันมีการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าวข้างต้นรวมกันวันละประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร หากคิดการระบายน้ำด้วยอัตราดังกล่าวจะสามารถส่งน้ำได้เพียงประมาณ 15 วันเท่านั้น(กรณีไม่คิดปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ)
ดังนั้น กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ รับทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนในปัจจุบัน พร้อมทั้งให้รณรงค์ช่วยกันประหยัดน้ำ และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้น้ำจากเจ้าหน้าที่ชลประทานในพื้นที่ของตนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในระยะต่อๆไป ซึ่งอาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อยได้ รวมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย