ทั้งนี้ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ เป็นแม่งานในการอำนวยการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนให้ดำเนินทุกมาตรการ โดยกำหนดมาตรการด้านการปราบปราม ดังนี้ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงให้สนธิกำลังร่วมกันทั้งด้านการข่าว การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ควบคู่ไปกับกระบวนการสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชน โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วม
สำหรับหมู่บ้าน/ชุมชน ที่มีสถานการณ์รุนแรงได้กำหนดมาตรการปราบปรามอย่างเข้มงวดในช่วง 3 เดือนนี้
ด้านการบำบัดรักษา โดยเฉพาะการจัดทำค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะดำเนินการตามมาตรฐานวิชาการที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำหลักสูตรการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด ซึ่งจะมีการคัดกรองเพื่อแยกประเภทตามความหนักเบาของการใช้ยาเสพติด ส่งเข้ารับการบำบัดในระบบที่เหมาะสมตามอาการและภายหลังจากจากที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วจะมีกระบวนการติดตามที่ชัดเจน และผู้ผ่านการบำบัดแล้วจะได้รับการช่วยเหลือฝึกอาชีพและหางานให้ทำเพื่อป้องกันการหวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก
ด้านการป้องกันกลุ่มเสี่ยงทั้งนอกและในสถานศึกษา ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอาใจใส่อย่างจริงจัง
"ได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฟื้นที่ให้มีความเป็นเอกภาพ เข้าถึงปัญหาในพื้นที่ของตน และหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยให้ความสำคัญกับปัญหาที่เป็นวิกฤติของพื้นที่ก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหายาเสพติด" นายวิบูลย์ กล่าว